ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน ภาวะเงินเฟ้อสูง...กดดันผลตอบแทนแท้จริง

14 พ.ค. 2564 | 13:01 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน ภาวะเงินเฟ้อสูง...กดดันผลตอบแทนแท้จริงแต่ก็เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจ สภาพคล่อง และดอกเบี้ยของกนง.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาวะเงินเฟ้อสูง มาจากปัจจัยด้านอุปทานและเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงจากโควิด-19 กดดันผลตอบแทนแท้จริง  

 

•         ในภาวะปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังเผชิญความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ และไทย ทั้งนี้แม้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันที่ขยับขึ้น และปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบจะเป็นสาเหตุสำคัญที่หนุนทิศทางเงินเฟ้อในหลายๆ ประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2/2564 แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังมีปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศที่เป็นสาเหตุเบื้องหลังที่ทำให้เงินเฟ้อขยับสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ยกตัวอย่าง ในสหรัฐฯ (อัตราเงินเฟ้อสะท้อนจาก CPI อยู่ที่ 4.2% YoY ในเดือนเม.ย. 64) ปัจจัยเฉพาะเพิ่มเติมที่หนุนเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะเป็นเรื่องของข้อจำกัดในภาคการผลิต-บริการ ซึ่งไม่สามารถตอบสนองได้ทันกับความต้องการที่เร่งตัวขึ้นหลังจากที่มีการคลายล็อกให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง นอกจากนี้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังน่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีแผนจะดำเนินการหลายโครงการในช่วงหลายเดือนหลังจากนี้

สำหรับประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนเม.ย. 2564 อยู่ที่ 3.41% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยับขึ้นจาก -0.08% YoY ในเดือนมี.ค. 2564 โดยแม้สาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจะมาจากปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนที่โดนกระทบจากโควิด 19 รอบแรก แต่ก็ยังคงต้องติดตามแนวโน้มราคาน้ำมันและสถานการณ์ของค่าเงินบาท ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยมีโอกาสทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

 

•         อย่างไรก็ดี สถานการณ์เงินเฟ้อและความแข็งแรงของภาวะเศรษฐกิจไทยกับสหรัฐฯ มีความแตกต่างกัน เพราะสภาวะเงินเฟ้อไทยในปัจจุบันเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน และเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันและความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด 19 รอบที่สาม ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อเนื่องยังแนวโน้มการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปีนี้และปีหน้า

ภายใต้สภาวะเงินเฟ้อจากปัจจัยด้านอุปทานและเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีโอกาสน้อยมากที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้น (เพราะไม่ใช่กรณีที่เงินเฟ้อเกิดขึ้นพร้อมกับเศรษฐกิจที่ขยายตัว) โดย คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะยังคงให้น้ำหนักความสำคัญกับการดูแลปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าปัญหาเงินเฟ้อ และน่าจะยังต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ด้วยการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเพื่อช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม สอดคล้องไปกับมาตรการด้านการคลังที่ยังจะต้องเน้นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อประคองสถานการณ์กำลังซื้อและรายได้เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปก่อน 

 

•         ส่วนผลกระทบของเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นต่อผลตอบแทนจากการออมและลงทุนนั้น คงต้องย้อนมองฝั่งอัตราดอกเบี้ยตลาดการเงินและอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีการปรับตัวตามกลไกการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของกนง. ดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายยังทรงตัวต่ำ สภาวะเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ และระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีภาวะสภาพคล่องสูง (4.62 ล้านล้านบาท) จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยตลาดและอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำตามไปด้วย ดังนั้นเมื่อเงินเฟ้อเร่งขึ้นจึงส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย หรืออัตราดอกเบี้ยที่หักด้วยเงินเฟ้อ เริ่มมีค่าติดลบแล้วตั้งแต่ในเดือนเม.ย. 2564 ที่ผ่านมา โดยเงินเฟ้อในเดือนเม.ย. 2564 อยู่ที่ 3.41% YoY สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ (รายละเอียดตามตารางด้านล่าง)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน ภาวะเงินเฟ้อสูง...กดดันผลตอบแทนแท้จริง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน ภาวะเงินเฟ้อสูง...กดดันผลตอบแทนแท้จริง  

•         สำหรับแนวโน้มเงินฝากในปี 2564 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ยอดคงค้างเงินฝากปี 2564 ในระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศน่าจะประคองการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการเติบโตอาจชะลอลงมาอยู่ในช่วง 3.5-5.0% เทียบกับที่เติบโตสูงถึง 10.9% ในปี 2563 นำโดย การเติบโตของเงินฝากในกลุ่ม CASA ซึ่งจะยังทำหน้าที่แหล่งพักเงิน/สภาพคล่องที่ปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจยังคงมีสัญญาณไม่แน่นอนจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศ นอกจากนี้เงินฝากในกลุ่ม CASA ยังมีความยืดหยุ่นในการใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมทางการเงินที่หลากหลาย สำหรับภาพรวมการออกแคมเปญเงินฝากใหม่ในปี 2564 นี้ คาดว่า จะยังคงมีจำนวนที่น้อยกว่าจำนวนแคมเปญที่ครบกำหนด และจะยังคงเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในแคมเปญใหม่ๆ เพื่อบริหารต้นทุนเงินฝากให้เหมาะสม เนื่องจากสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ในระดับสูง

 

โดยสรุป แม้ในปี 2564 จะมีแรงกดดันให้แนวโน้มเงินเฟ้อมีโอกาสขยับสูงขึ้น (จากที่ติดลบในปี 2563 ประมาณ -0.8%) และกดดันให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สถานการณ์เงินเฟ้อดังกล่าวเป็นปัจจัยด้านอุปทาน ซึ่งจะยังไม่กดดันให้ธปท. ต้องปรับเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อทิศทางดอกเบี้ย แต่ในทางกลับกัน กนง. มีแนวโน้มที่จะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำต่อไป เนื่องจากสภาพแวดล้อมและแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังมีความเสี่ยงสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกที่สามที่มีความรุนแรง และมีผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจหลายกลุ่ม ซึ่งนั่นเท่ากับว่า อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินระยะสั้นประเภทอื่นๆ ที่เป็นตัวส่งผ่านสัญญาณดอกเบี้ยของกนง. ก็จะมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบต่ำต่อไปเช่นกัน