หลักทรัพย์บัวหลวง แนะธีมผสม“ กองหุ้น Growth-Value”

14 พ.ค. 2564 | 10:35 น.

หลักทรัพย์บัวหลวง แนะจัดพอร์ตกองทุน ธีมผสม “ กองหุ้น Growth” และ “กองหุ้น Value” รับเศรษฐกิจโลกฟื้น หลังหลายประเทศเร่งฉีดวัคโควิด-19ได้ตามเป้า

นายเสริมศักดิ์  วงศ์สิทธิโชค ผู้อำนวยการ ฝ่ายค้าตราสารการเงิน บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  กลยุทธ์การลงทุน “กองทุนรวม” ในช่วงภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว  BLS Top Funds แนะนำให้จัดพอร์ตในลักษณะผสมผสาน ระหว่าง “กองทุนหุ้นเติบโต” (Growth)  และ “กองทุนหุ้นเน้นคุณค่า” (Value)

 

เน้นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่ โดยให้เลือกกองทุนที่ลงทุนในบริษัทที่มีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ หรือ ค่า P/E Ratio ต่ำ และมีอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี หรือ P/BV Ratio ไม่แพง ซึ่งเป็นวิธีการลงทุนในลักษณะเน้นคุณค่า หรือ       Value Style

 

เสริมศักดิ์  วงศ์สิทธิโชค ผู้อำนวยการ ฝ่ายค้าตราสารการเงิน บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน)

 

สำหรับกองทุนเด่น ในฝั่ง “กองทุนหุ้นเติบโต” แนะนำให้เลือกกองทุนที่ลงทุนใน กลุ่ม New Economy อย่างหุ้นกลุ่มนวัตกรรมด้านสุขภาพที่กำลังเป็น Mega Trend  หรือ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เช่น กองทุนบีแคป เน็กซ์ เจน เฮลธ์ (BCAP-XHEALTH)  กองทุนไอพีโอน้องใหม่ที่ลงทุนในธุรกิจด้านสุขภาพที่มีนวัตกรรมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยกองทุนดังกล่าวจะเน้นกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน ด้วยหลักทรัพย์กว่า 300 ตัว และไม่จำกัด  การลงทุนเพียงกลุ่ม Health care เหมาะกับการลงทุนในระยะยาว

ส่วน “กองทุนหุ้นเน้นคุณค่า” แนะนำกองที่เน้นลงทุนใน “หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์” เพราะจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่าง กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ฟันด์ (KT-FINANCE) ที่ลงทุนหุ้นกลุ่ม ผู้ให้บริการด้านการเงินทั่วโลก รวมถึงกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ขนาดกลางและเล็กที่มีการเติบโตของกำไรสม่ำเสมอ และราคาไม่สูงเกินไป เช่น กองทุนเปิด อเบอร์ดีน อเมริกัน โกรท-สมอลเลอร์ คอมพานี ฟันด์  (ABAGS)

 

ทั้งนี้  แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ  แต่ภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวขึ้นชัดเจนในปีนี้ ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น หนุนให้ “ตลาดหุ้น” น่าลงทุน สะท้อนจากหลายปัจจัย เช่น 1.การกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 เริ่มเป็นไปตามเป้าหมาย ในหลายประเทศ ส่งผลให้อาจมีการเปิดเมืองในบางประเทศ  

 

2.ดัชนี Purchasing Managers Index (PMI) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้ภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นในเกือบทุกประเทศหลัก เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น 3.ตัวเลข GDP ในช่วงไตรมาส 1 ปี 64 ของสหรัฐฯ ขยายตัวสูงเกินคาดที่ระดับ 6.4%  

 

4.รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ ยังใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ล่าสุด “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน อนุมัติงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 58.7 ล้านล้านบาท และธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยังคงอัตราดอกเบี้ยและเดินหน้าโครงการซื้อพันธบัตรสินทรัพย์ต่อไป และ5. มาตรการหลักของธนาคารกลางทั่วโลกยังคงนโยบายดอกเบี้ยระยะสั้นที่ต่ำ

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข่าวดีสนับสนุนภาพรวมตลาดหุ้น แต่ก็ยังมีประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น 1.การแพร่ระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 ทั้งในยุโรปและไทย  2.การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจทำให้ Fed ตัดสินใจปรับบางมาตรการ เช่น ล่าสุด Fed ประกาศไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนปรนที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องนำพันธบัตรและเงินในบัญชีที่ฝากไว้กับ Fed มาคำนวณสัดส่วนทุน เพื่อรองรับความเสียหายที่อาจเกิดจากหนี้เสีย

 

3.การอัดฉีดเงินในระบบเศรษฐกิจ ทำให้คาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้น สินค้าโภคภัณฑ์อย่าง “น้ำมัน” ทำราคา New High ในรอบ 1 ปี 4.อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วจนกดดัน Valuation ของตลาดหุ้น และ 5.นโยบายการเงินของจีนเริ่มกลับมาเข้มงวดมากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: