KKP G-THEME-H ธีมลงทุนรับเทรนด์เศรษฐกิจโลกใหม่

29 มี.ค. 2564 | 11:25 น.

บลจ.เกียรตินาคินภัทร มองเศรษฐกิจโลกฟื้นต่อเนื่อง ส่ง KKP G-THEME-H เป็นกองทุนเด่นตัวใหม่ ด้วยกลยุทธ์ลงทุนตามธีม ที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของโลก

นายยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เกียรตินาคินภัทร จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญที่กำลังจะประกาศใช้ และท่าทีที่ชัดเจนของธนาคารกลางต่างๆ ที่จะยังคงนโยบายแบบผ่อนคลายในปีนี้ จะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นโลกในระยะต่อจากนี้

ยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. เกียรตินาคินภัทร

บลจ.เกียรตินาคินภัทร จึงพัฒนากองทุน KKP G-THEME-H เป็นหนึ่งในกองทุนเด่น สำหรับเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนไทย โดยกลยุทธ์การทยอยจัดสรรเงินเข้าไปลงทุนในธีมลงทุนที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจใหม่จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนหุ้นโลกได้ในระยะยาว

 

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แนวโน้มการลงทุนเปลี่ยนแปลงไป บริษัทจึงออกแบบกองทุน KKP G-THEME-H  มาเป็นหนึ่งในกองทุนแฟล็กชิปตัวใหม่ โดยมีกลยุทธ์การลงทุนที่เรียกว่า Thematic Investment หรือ การกระจายการลงทุนตามกรอบการลงทุนสำคัญของโลกหลากหลายธีม” นายยุทธพลกล่าว

นอกจากนั้น กองทุน KKP G-THEME-H  ยังมีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ไม่น้อยกว่า  90% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ถือเป็นกองทุนที่เหมาะสำหรับนักลงทุนที่เข้าใจการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ รวมทั้งสามารถรับความเสี่ยงและความผันผวนระยะสั้นเพื่อสร้างโอกาสในการรับผลตอบแทนระยะยาว

 

กองทุนเปิด KKP G-THEME H

ทั้งนี้ สภาวะตลาดการลงทุนช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา สะท้อนมุมมองว่า เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น โดยกระแสเงินลงทุนไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงานและไหลออกจากตลาดพันธบัตร ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 1.12% เมื่อต้นเดือนมาแตะที่ระดับ 1.6% ในปัจจุบัน

 

ขณะที่ตลาดหุ้นโลกมีความผันผวนเพิ่มขึ้นจากการปรับลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีมูลค่าแพง เช่น กลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มธุรกิจสื่อสาร ไปเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มูลค่าถูกกว่า เช่น กลุ่มพลังงานและกลุ่มธุรกิจการเงิน ซึ่งคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: