ปี 2020 กรรมการเฟดสายเหยี่ยว  “ลด” หนุนจุดยืนผ่อนคลาย

06 ม.ค. 2563 | 05:20 น.

ครบเครื่องเรื่องทองกับ YLG

พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

นโยบายการเงิน ณะกรรมการผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง เพื่อกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หรือ The Federal Open Market Committee (FOMC) จะมีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ปี เช่นเดียวกับปี 2020 ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ YLG อัพเดตให้นักลงทุนทุกท่านรับทราบในทุกปี และสิ่งที่น่าสนใจ คือ กรรมการผู้มีสิทธิโหวตในปี 2020 จะมีมุมมองในเชิงสายเหยี่ยว (Hawkish) ที่ลดลงจากปี 2019

ต้องไล่เลียงก่อนว่า กรรมการสายเหยี่ยว (Hawkish) คือ กรรมการเฟดที่มีแนวคิดสนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงิน เช่น การลดขนาดงบดุลและการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนกรรมการสายพิราบ (Dovish) คือ สายกรรมการที่มีแนวคิดสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เช่น การขยายงบดุลและการลดอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น จุดยืนของคณะกรรมการผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงย่อมจะส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในแต่ละปี

เมื่อย้อนกลับไปดูในปี 2019 พบว่า มีจำนวนกรรมการเฟดผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมด 10 ท่าน ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการเฟดสายเหยี่ยว (Hawkish) ถึง 2 ท่าน คือ นางเอสเธอร์ จอร์จ (แคนซัส ซิตี้) และนายเอริค โรเซน เกรน (บอสตัน) ร่วมด้วยกรรมการเฟดสายกลาง (Centrist) จำนวน 6 ท่าน คือ นางลาเอล เบรนาร์ด (ผู้ว่าการเฟด), นายแรนดัล ควอร์เลส (ผู้ว่าการเฟด), นายเจอโรม พาวเวลล์ (ประธานเฟด), นางมิเชล โบว์แมน (ผู้ว่าการเฟด), นายริชาร์ด คลาริดา(รองประธานเฟด) และนายจอห์น วิลเลียมส์ (นิวยอร์ก) ขณะที่กรรมการเฟดสายพิราบ (Dovish) และกรรมการเฟดที่มีมุมมองค่อนไปทางสายพิราบ (Less Dovish) มีทั้งหมด 2 ท่าน คือ นายชาร์ลส์ อีแวนส์ (ชิคาโก) และนายเจมส์ บูลลาร์ด (เซนต์หลุยส์) จะเห็นได้ว่า กรรมการเฟดผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงที่เป็นสายเหยี่ยวในปี 2019 มีเพียงแค่ 2 ท่านเท่านั้น จึงไม่น่าประหลาดใจนักที่เฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปี 2019

ปี 2020 กรรมการเฟดสายเหยี่ยว  “ลด” หนุนจุดยืนผ่อนคลาย

 

 

 

ขณะที่ในปี 2020 กรรมการเฟดผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงที่ถูกปรับออกมีจำนวนทั้งสิ้น 4 ท่าน ในจำนวนนี้ประกอบไปด้วยกรรมการเฟดสายเหยี่ยวถึง 2 ท่าน ได้แก่ นางเอสเธอร์ จอร์จ (แคนซัส ซิตี้) และนายเอริค โรเซนเกรน (บอสตัน) ส่วนอีก 2 ท่าน ได้แก่ นายเจมส์ บูลลาร์ด (เซนต์หลุยส์) และนายชาร์ลส์ อีแวนส์ (ชิคาโก) ซึ่งเป็นกรรมการเฟดสายพิราบ โดยทั้ง 4 ท่านที่กล่าวมานี้ จะถูกแทนที่ด้วยนางลอเรตตา เมสเตอร์ (คลีฟแลนด์) และ นายแพทริก ฮาร์เกอร์ (ฟิลาเดลเฟีย) ซึ่งแม้คู่นี้จะเป็นกรรมการสายเหยี่ยว แต่ก็ถือว่ามีมุมมองเชิงเหยี่ยวที่แข็งกร้าวน้อยกว่ากรรมการเฟดที่ถูกปรับออกไป ขณะที่อีก 2 ท่านที่เข้ามาแทนที่ ได้แก่ นายโรเบิร์ต แคปแลน (ดัลลัส) ซึ่งมีแนวคิดสายกลางและนายนีล แคชคารี (มินนีอาโพลิส) ซึ่งมีแนวคิดสายพิราบอย่างมาก

 

โดยรวมแล้วในปี 2020 กรรมการผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงที่เป็นสายเหยี่ยว (Hawkish) มีมุมมองที่แข็งกร้าวลดลงจากปี 2019 จึงมีโอกาสมากกว่าที่เฟดจะยังคงจุดยืนของการดำเนินนโยบายการเงินในเชิงผ่อนคลาย นั่นหมายความว่าต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับตํ่าต่อไป ซึ่งสภาพแวดล้อมนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะหนุนราคาทองคำในปี 2020

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,534 วันที่ 26-28 ธันวาคม 2562

                       ปี 2020 กรรมการเฟดสายเหยี่ยว  “ลด” หนุนจุดยืนผ่อนคลาย