เดินหน้าเก็บภาษีความหวาน 1 ต.ค.นี้

09 ก.ย. 2562 | 07:24 น.

สรรพสามิตเดินหน้า เก็บภาษีความหวาน 1ต.ค.นี้ เผยผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวลดปริมาณน้ำตาล แต่เครื่องดื่มน้ำอัดลมบางรายปรับราคาเพิ่ม อ้างต้นทุน

               นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2562 กรมสรรพสามิตคาดว่า จะสามารถจัดเก็บรายได้รวม 584,600 ล้านบาทและตั้งเป้าจัดเก็บปีงบประมาณ 2563 ทั้งสิ้น 642,600 ล้านบาท

เดินหน้าเก็บภาษีความหวาน 1 ต.ค.นี้

               สำหรับการจัดเก็บภาษีจากค่าความหวานตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 กรณีผู้ประกอบการที่ไม่ปรับตัวหรือปรับลดปริมาณความหวาน ตามที่กำหนด ต้องรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นทุก 2 ปี(ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 และ 1 ตุลาม 2566)เช่น ปัจจุบันเสียภาษี 50สตางค์ต่อลิตร หากไม่ปรับตัว จะเสียภาษีเพิ่ม 1 เท่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีผู้ประกอบการทยอยปรับตัวไปบ้างแล้ว ทำให้ภาระภาษีลดลง แต่บางรายปรับราคาเพิ่มตามต้นทุนที่เพิ่มด้วย

อย่างไรก็ตามในหลักการ กรมสรรพสามิตต้องการ ที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการลดการใช้น้ำตาลลง เพื่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่ง 1 ปีเศษที่ผ่านมา ตั้งแต่ใช้มาตรการภาษีความหวาน ยังไม่เห็นปริมาณความหวานลดลงมากนัก แต่โลโก้สุขภาพหรือผลิตภัณฑ์ที่ควบคุมความหวาน ปรับเพิ่ม 200-300 รายการจากเดิมอยู่ที่ 60-70 รายการโดยเฉพาะเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นกว่า 200% ขณะเดียวกันมีค่ายน้ำดำได้ปรับลดน้ำตาลจากกว่า 10% คงเหลือ 7.5% ทำให้สินค้ายังคงรสชาติเดิม แต่ความหวานน้อยลง ซึ่งดีต่อสุขภาพ

      ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำโครงการสำรวจผลจาก การเริ่มบังคับใช้มาตรการภาษีตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 โดยกำหนดภาษีความหวาน เพื่อดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ พร้อมทั้งประเมินผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและประชาชน โดยสรุปพบว่า มาตรการภาษีดังกล่าวจูงใจให้กับผู้ประกอบการกลุ่มเครื่องดื่มมีการปรับตัว โดยลดปริมาณความหวานลงค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน มีการเพิ่มเครื่องหมายเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 200% นอกจากนี้ยังพบว่า ในส่วนของเครื่องมือที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษียังขาดเรื่องการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับมาตรการภาษีความหวาน ซึ่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สำหรับผลศึกษายังพบว่า กลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และอายุต่ำกว่า 30 ปีลงมา ให้ความสนใจในมาตรการภาษีความหวาน แต่ระหว่างวัยทำงาน อายุ 30 ไปจนถึงเกือบ 60 ปียังให้ความสนใจน้อย

เดินหน้าเก็บภาษีความหวาน 1 ต.ค.นี้