สัมภาษณ์
เดินหน้าปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง สำหรับบริษัท พีพี ไพร์ม จำกัด (มหาชน) (บมจ.) (PPPM) โดยล่าสุดแต่งตั้ง “นายสุธี ตันติวณิชชานนท์” ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสายบัญชีและการเงินที่การันตีจากประสบการณ์มากกว่า 35 ปี และมีความชำนาญในวิชาชีพด้านการเงิน บัญชีการเงิน การตรวจสอบบัญชี กฎหมายธุรกิจ และที่ปรึกษากิจการพร้อมปริญญา 7 ใบ และวุฒิบัตรหลายหลักสูตร เรียกได้ว่าการมาครั้งนี้จะสามารถขับเคลื่อนแผนธุรกิจให้สวยงามได้อย่างแน่นอน
เริ่มต้น “สุธี” ขอจัดการกับสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก่อน คือ ฟาร์มวิจัย จำนวน 200 ไร่ ที่ดินและสำนักงาน 50 ไร่ และสวนปลูกมะพร้าว อีกจำนวน 9 ไร่ รวมมูลค่ามากกว่า 250 ล้านบาท โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาขายออกทั้งหมด
นอกจากนี้ยังจะพิจารณาถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจอาหารสัตว์ในระยะยาว ซึ่งหากมีการเติบโตไม่มาก ก็จะพิจารณาขายธุรกิจดังกล่าวเช่นกัน โดยจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 6 เดือน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ประมาณสิ้นปีนี้ และจะเห็นการพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ในสิ้นปีนี้ จากปี 2561 ที่มีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 110.08 ล้านบาท
สุธี ตันติวณิชชานนท์
นอกจากแผนที่จะขายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แล้ว ยังพร้อมที่จะเดินหน้าธุรกิจโรงไฟฟ้าอย่างเต็มสูบ โดยเฉพาะพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ หลังจากที่ผ่านมาได้สร้างกำไรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศญี่ปุ่น มีการดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วจำนวน 15 โรง กำลังการผลิตโรงละ 125 กิโลวัตต์ รวมถึงอยู่ระหว่างลงทุนเพิ่มอีก 9 โรง กำลังการผลิตโรงละ 125 กิโลวัตต์ คาดว่าจะสามารถ COD ได้ในปี 2563 รวมถึงแผนลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในภาคเหนือของประเทศญี่ปุ่น โดยติดตั้งเสากังหัน จำนวน 110 ต้น กำลังการผลิตรวม 2.2 เมกะวัตต์
ที่สำคัญ บริษัทได้เตรียมเซ็นสัญญากับบมจ. เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส (ESCO) บริษัทย่อยของ บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) โดยจะเข้ามาเป็นผู้ดำเนินงานการเดินเครื่องและบำรุงรักษา (O&M) ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ และโรงไฟฟ้ารูปแบบอื่นๆ ทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าด้วยความเชี่ยวชาญของ ESCO จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นจากเดิมที่อยู่ที่ 68% เพิ่มเป็น 86% ได้ในอนาคต
จากการเดินหน้าธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องยังไม่จบแค่นั้น ยังมีแผนที่จะเข้าซื้อโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น ทั้งรูปแบบกรีนฟิลด์ โรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนา รวมถึงโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่เปิดให้พันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุน โดยให้ ESCO เป็นผู้ดำเนินงานดังกล่าวทำให้คาดว่าอาจจะมีการเปลี่ยหมวดจากธุรกิจการเกษตรเป็นธุรกิจพลังงานในอนาคตได้
สำหรับหนี้สินรวมปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,950 ล้านบาท ประกอบด้วยพันธบัตร จำนวน 714 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 7-8.5% คาดว่าจะชำระคืนได้ภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (ดี/อี) ลดลงเหลือ 1.5 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 2.75 เท่า ขณะที่หนี้ที่เหลือจะเป็นหนี้ไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ยที่ 3% โดยจะใช้เงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (RO) ไปชำระคืน
เป็นที่น่าจับตาไม่น้อยกับการพลิกโฉมของ PPPM ภายใต้โครงสร้างใหม่ครั้งนี้ ที่เสริมทัพจากบุคคลมากฝีมือ ต้องรอดูกันต่อไปว่าแผนที่วางกันไว้นั้น จะขับเคลื่อนได้มากน้อยเพียงใด ช่วยเรียกความเชื่อมั่นกลับจากนักลงทุนได้แค่ไหน เป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายเลยทีเดียว
หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3483 วันที่ 30 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2562