สร้างเงื่อนไขชีวิตให้กับชายชรา

30 ก.ย. 2565 | 19:00 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ระยะนี้ผมได้รับข่าวผู้ใหญ่หลายๆ ท่านได้จากไปอยู่ไม่ขาดสาย ถ้ามองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่คนเราเมื่ออายุมากแล้ว ย่อมเปรียบเสมือนใบไม้ที่ล่วงเป็นปกติ แต่ข่าวที่ได้รับมักจะมีข่าวลักษณะดังกล่าวบ่อยมาก เป็นข่าวที่บรรดาญาติมิตรส่งมาให้อยู่เป็นประจำ 


บางท่านที่เราได้มีโอกาสใกล้ชิด ก็อดไม่ได้ที่ใจหายเหมือนกันครับ สังเกตดูเวลาเรายังหนุ่มแน่นอยู่  ก็มักจะได้ข่าวเพื่อนฝูงคนนั้นคนนี้แต่งงาน ต่อมาพออายุมากขึ้นมาหน่อย ก็จะได้รับการเชิญให้ไปเป็นเถ้าแก่ให้กับลูกหลานเสมอ แต่ยิ่งอายุมากขึ้นมาอีกนิด ก็จะเป็นข่าวงานศพ ทำให้เกิดอาการปลงตก มองเสียว่านั่นเป็นเรื่องธรรมชาติจริงๆ ครับ

ถ้าเราหันกลับไปดูในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา คนอายุ 50-60 ปีก็เหมือนว่าจะแก่มากแล้ว แต่ปัจจุบันนี้คนอายุ 70-80 ปี ร่างกายยังแข็งแรงกว่าอดีตมาก อาจจะเป็นเพราะเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ของไทยเรา ได้มีการพัฒนาขึ้นกว่าอดีตมาก อายุขัยของประชากรในประเทศไทยเรา จึงมีอายุยืนยาวกว่าเดิมนั่นเอง 


แต่ถ้าหากเรานำไปเปรียบเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วหลายๆ ประเทศ เราอาจจะสู้เขาไม่ได้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ หรือประเทศตะวันตกอื่นๆ ดูได้จากอายุขัยของประชากรแต่ละประเทศ ก็สามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่า การแพทย์ของประเทศนั้นๆ เจริญกว่าเรามากนั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่นที่ประเทศญี่ปุ่น ที่เขามีประชากรที่อายุเกินกว่าหนึ่งร้อยปี มากถึงกว่า 86,500 คน ก็น่าสนใจศึกษานะครับ ว่าเขาทำไมถึงมีอายุยืนยาวกว่าเรามาก การสร้างเงื่อนไขให้กับการใช้ชีวิตของเขานั้น เขาทำอย่างไรกันบ้าง? ผมจึงมีความอยากรู้อยากเห็นมาก จึงได้ไปอ่านบทวิจัยต่างๆ เพื่อนำเอามาปฏิบัติกับตนเอง ไม่ได้กลัวตายนะครับ 


เพราะคนเราทุกคนหลีกหนีไม่พ้นความตายอยู่แล้ว แต่ไม่อยากเป็นภาระให้ลูก-หลานในอนาคตครับ หากจะต้องไปเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ ก็ขอไปแบบไม่ต้องนอนแหมะอยู่บนเตียงก่อนจากไป หากสามารถนอนๆ แล้วหลับไปเลยได้ นั่นน่าจะเป็นบุญอันยิ่งใหญ่แล้วครับ
      

มีบทวิจัยบทหนึ่ง ที่ผมอ่านเจอ เขาพูดถึงเงื่อนไขของการใช้ชีวิต ที่สามารถลดการเจ็บป่วยในยามแก่เฒ่าได้ คือการสร้างนิสัยการรับประทานอาหาร การประมวลผลทางกายภาพ และการดูแลสุขภาพจิตให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุดนั่นเอง ฟังดูเหมือนไม่ยากใช่มั้ยครับ แต่นำมาปฏิบัติจริงนั้น มีรายละเอียดเยอะมาก 


เอาแค่เรื่องอาหารที่เรารับประทานอยู่เป็นนิจก็ยากมากแล้วครับ เผลอๆ เราเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพอย่างเดียว ก็อาจจะถูกคนใกล้ตัวบ่นว่า “อย่าเยอะ” ก็ได้นะครับ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราก็ทราบๆ กันดีว่า ปัจจุบันนี้ อาหารที่เราทานกันอยู่นั้น มีหลากหลายรายการที่เรามักจะตามใจปากมากจนเกินไป 


หรือบางครั้งเราก็ตามใจปากจนไม่ได้ห่วงท้องหรือร่างกายเราเลย เห็นอะไรอร่อยล่อใจเป็นไม่ได้เลย ทั้งๆที่รู้ว่ามันไม่ควรแต่ก็จะทานให้ได้  นี่คือกิเลสของมนุษย์ครับ คุณแม่ของผม (เอาแม่มานินทาเสียแล้ว) ตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นคนหนึ่งที่ไม่ยอมให้ลูกหลานอดอยากเลย ทั้งๆ ที่ท่านเป็นทั้งเบาหวานและความดันโลหิตสูง ท่านก็จะมีข้ออ้างในการซื้ออาหารอร่อยๆ ว่า ซื้อมาให้ลูกหลานกิน 


ตัวอย่างเช่น ท่านชอบทานลำใย ท่านก็จะซื้อครั้งละเป็นเข่งๆ หรือซื้อน้อยหน่าก็จะซื้อครั้งละเป็นร้อยๆลูก สมัยก่อนที่ผมเป็นเด็กอยู่บ้านนอก เขาจะขายน้อยหน่านับเป็นร้อยละเท่านั้นเท่านี้บาท หรือเวลาท่านซื้อมะม่วงก็ต้องซื้อเป็นรัอยๆ ลูกเช่นกัน ซื้อทุเรียนก็ซื้อลูกเดียวไม่เป็น พอซื้อเสร็จลูกๆ กินไม่หมด ก็เป็นลาภปากของคุณแม่แล้วละครับ 


ผมมีพี่สาวคนหนึ่งเป็นเภสัชกร ก็มักจะบอกให้คุณแม่เพลาๆ อาหารหวานหน่อย คุณแม่ผมมักจะบอกว่า “ให้ฉันกินเถอะ ฉันยอมที่จะตายด้วยความอิ่ม ก็อย่าให้ตายเป็นผีที่อดอยากตายเลย” แต่สุดท้ายท่านก็นอนติดเตียงยาวนานเป็นเกือบ 9 ปีจากไปครับ
       

ปัจจุบันนี้อาหารที่ขายตามร้านทั่วๆ ไป หากเราสังเกตให้ดี จะเห็นว่ามักจะมีรสหวานนำเสมอ เกือบทุกเมนูเกือบจะร้อยทั้งร้อย ต้องมีการเติมน้ำตาลลงไปในอาหารคาว ซึ่งตัวผมและครอบครัว จะไม่นิยมทานอาหารที่มีรสหวานเช่นนั้นเลย เราจึงทำอาหารทานเองที่บ้านมากกว่าการไปทานอาหารนอกบ้าน หรือซื้ออาหารที่เขาปรุงเสร็จมาทานครับ 


อีกอย่างหนึ่ง คือการปลูกผักสวนครัวไว้ทานเอง ถึงแม้บ้านผมจะเป็นบ้านทาวน์เฮ้าส์ ที่ไม่มีพื้นที่เพาะปลูกมาก ภรรยาก็ชอบที่จะปลูกผักบางชนิดไว้ทานเองเสมอ เผอิญผมมีโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ภรรยาผมมักจะซื้อเมล็ดพันธุ์ผัก ฝากไปให้น้องๆ ที่โรงงานช่วยปลูกให้เพื่อแบ่งปันพนักงานด้วย  อย่างน้อยที่สุดทุกคนก็สามารถทานผักที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลงได้อย่างสบายใจครับ 


น้องๆ ที่โรงงานก็ดีใจที่ได้มีโอกาสปลูกผักให้นายมาทานที่บ้าน ผมรู้ได้ด้วยการที่ทุกครั้งที่ไปโรงงาน เขาก็จะรีบไปเก็บผักแล้วฝากกลับมาให้ซ้อ ด้วยสายตาที่มีความสุขครับ อันที่จริงแล้ว เราไม่ได้เป็นคนที่เรื่องมากจนเกินเหตุนะครับ แต่เรามีโอกาสสร้างเงื่อนไขที่ดีให้แก่ชีวิตเราเอง เราจึงทำไงละครับ 
          

อีกประการหนึ่งคือการออกกำลังกาย อันนี้ต้องยอมรับว่า ตัวผมเองไม่ค่อยได้ไปออกกำลังกายเลยก็ว่าได้ แต่ผมจะเป็นคนไม่หยุดนิ่ง มักจะใช้วิธีการเดินทางสำรวจตลาด หรือไปพบปะเพื่อนฝูงหรือลูกค้าเป็นประจำ ทำให้ร่างกายไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ก็เสมือนเป็นการออกกำลังกายเบาๆ นั่นเอง อีกทั้งต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายประจำปีทุกๆ ปีไม่เคยขาด ซึ่งก็จะเป็นการประมวลผลทางกายภาพให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุดนั่นเอง
      

สุดท้ายสำคัญที่สุด คือการดูแลสุขภาพจิตของตัวเราเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใครก็ช่วยเราไม่ได้ครับ ต้องอาศัยตัวเราเองล้วนๆ คือต้องพยายามอย่าทำให้อารมณ์เสียหรือขุ่นมัว ต้องทำตัวให้มองทุกอย่างเป็นบวกไว้เสมอ อย่าได้สร้างมลภาวะทางอารมณ์ให้กับเราเป็นอันขาด 


จะต้องเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานั้น เป็นเรื่องของธรรมชาติให้ได้ เมื่อไม่มีสิ่งที่ทำให้จิตใจขุ่นหมอง เราจะเป็นคนที่มีความสุขที่สุด แล้วร่างกายเราก็จะไม่ต้องแบกรับเอาความเจ็บปวดจากโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาสู่ตัวเรา แม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกหนีความเจ็บป่วยได้ แต่ถ้าเราเห็นเป็นเรื่องธรรมชาติ ทุกอย่างก็จะดีขึ้นเองครับ