ทำไมต้องชื่อ "Kangaroo Court" 

12 พ.ย. 2564 | 04:04 น.

กรณี เว็บไซต์ทางการของศาลรัฐธรรมนูญไทย ถูกแฮกเกอร์เข้าไปเจาะระบบ และทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา 

จากกรณี www.constitutionalcourt.or.th เว็บไซต์ทางการของศาลรัฐธรรมนูญไทย ถูกแฮกเกอร์เข้าไปเจาะระบบ และทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา 

โดยถูกอัปโหลดหน้าเว็บไซต์ใหม่ และ เปลี่ยนชื่อบรรยายเว็บไซต์เป็น Kangaroo Court พร้อมใส่คลิป จากเว็บไซต์ยูทูป ที่ชื่อว่า เพลง Guillotine (It goes Yah) ของ Death Grips เข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ 

โดยชื่อ "Kangaroo Court" ไม่ได้หมายถึง 'ศาลจิงโจ้' แบบตรงตัว แต่หมายถึง 'ศาลเตี้ย' หรือ Kangaroo Trial โดยมีการให้ความหมายว่า ศาลที่ละเลยหรือบิดเบือนหลักการทางกฎหมายและความยุติธรรม ตุลาการของศาลเถื่อน เรียก "ตุลาการกำมะลอ" (mock justice) นั่นเอง

คำว่า "Kangaroo Court" นั้น เชื่อได้ว่าไม่ได้มีที่มาจากประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหลักของจิงโจ้ (Kangaroo) แต่มีการใช้ครั้งแรกสุดในการขุดทองที่แคลิฟอร์เนียเมื่อ พ.ศ. 2396 โดยครั้งนั้นเรียก "Mustang Court" หรือ "ศาลม้าเถื่อน" เพราะในเหตุการณ์ดังกล่าว ศาลได้ดำเนินกระบวนยุติธรรมไปอย่างรีบเร่งประดุจม้าเถื่อนกระโดด และต่อมาก็เปรียบกับการกระโดดของจิงโจ้

ความคืบหน้าจากรายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญรับรู้แล้ว และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไอทีกำลังดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วกับเว็บไซต์ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนผู้บริหารสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้มีการสั่งการเรื่องนี้เป็นพิเศษ

การกระทำดังกล่าว ยังคงไม่มีความแน่ชัดว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุผลอะไร และแฮกเกอร์รายใด แต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยก่อนหน้านี้ ศาลฯอ่านคำวินิจฉัยคดีของนายอานนท์ นำภา, ไมค์ ภาณุพงศ์ และ รุ้ง ปนัสยา ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ โดยวินิจฉัยข้อเรียกร้องของม็อบไม่ใช่การปฏิรูปสถาบัน แต่เป็นการล้มล้างการปกครอง ขอให้แกนนำและขบวนการยุติการกระทำ

ทั้งนี้ มีรายงานว่าศาลได้สั่งให้เจ้าหน้าที่รวบรวมการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณี มีคำวินิจฉัยว่า นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องรวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย