กรมควบคุมโรค เปิดข้อเท็จจริง อาการ "วัณโรคเทียม"

15 ต.ค. 2567 | 20:00 น.

กรมควบคุมโรค ไขข้อสงสัย วัณโรคเทียม ไม่ใช่ วัณโรค แต่มีอาการคล้ายวัณโรค ไม่ติดต่อจากคนสู่คน พบได้ทั้งในดินและน้ำ คนมีภูมิคุ้มกันต่ำควรระวัง

วัณโรคเทียม ถูกหยิบยกนำมาพูดคุยกันเป็นวงกว้างอีกครั้งหลังจากมีกระแสข่าวพบ ผู้ป่วยชายวัย 75 ปี เคยป่วยเป็นวัณโรคปอดเมื่ออายุ 25 ปี รักษาหายแล้ว มีอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลดได้ไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่โรงพยาบาลใกล้บ้านโดยแพทย์ได้ทำการส่องกล้องเข้าไปในหลอดลม ดูดเสมหะในหลอดลม ส่งเพาะเชื้อ พบ วัณโรคเทียม Mycobacterium kansasii 

ล่าสุด นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้อธิบายว่า วัณโรคเทียม (NTM) ไม่ใช่ วัณโรค (TB) เป็นโรคติดเชื้ออีกชนิดหนึ่งที่ไม่ติดต่อจากคนสู่คน เกิดจากเชื้อ Nontuberculous mycobacteria ซึ่งเป็นเชื้อคนละชนิดกับที่ทำให้เกิด วัณโรค ในคน (Mycobacterium tuberculosis : TB)

การติดเชื้อวัณโรคเทียมในคน

เชื้อวัณโรคเทียม (NTM) เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม กระจายตัวอยู่ในธรรมชาติทั้งในดินและน้ำ มีมากกว่า 140 สายพันธุ์

การติดเชื้อวัณโรคเทียมในคน อาจเกิดได้จากหลายช่องทาง เช่น จากการสูดดมหรือหายใจเอาเชื้อเข้าไป จากการสัมผัสทางบาดแผลที่ผิวหนัง การปลูกต้นไม้ การดื่มน้ำ หรืออาบน้ำที่มีเชื้อ NTM ปะปนอยู่ เป็นต้น เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคเทียมอาจใช้เวลานานกว่าจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ ดังนั้น ผู้ติดเชื้ออาจไม่ทราบว่าตนเองได้รับเชื้อตั้งแต่เมื่อไร และจากที่ใด

นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค

ในคนปกติเมื่อหายใจเอาเชื้อวัณโรคเทียมเข้าไปจะไม่ก่อให้เกิดโรคแต่สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือผู้ที่มีโรคปอดอยู่แล้วเท่านั้นจึงจะติดเชื้อและก่อให้เกิดโรคได้

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ผู้สูงอายุ ผู้ที่เคยป่วยเป็นวัณโรค โดยการติดเชื้อนี้จะมีผลต่อการเกิดโรคที่บริเวณปอด ต่อมน้ำเหลืองหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งผิวหนัง

อาการของผู้ป่วยวัณโรคเทียม 

นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยวัณโรคเทียมว่า จะมีอาการคล้ายผู้ป่วยวัณโรค เนื่องจากการติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ปอด

อาการที่พบบ่อย :

  • มีไข้
  • ไอเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ
  • เสมหะเป็นเลือด
  • เหนื่อยง่าย
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด
  • เหงื่อออกในตอนกลางคืน
  • อ่อนเพลีย

นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค

นอกจากนี้ยังพบอาการอื่น ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการติดเชื้อ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ หรือขาหนีบ ผื่นผิวหนัง ฝี หรือแผลเรื้อรัง เป็นต้น

การรักษา :

ให้กินยาปฏิชีวนะซึ่งต้องกินให้ตรงกับเชื้อนั้น ๆ จากการวินิจฉัยแยกเชื้อ "การเพาะเชื้อ" และตรวจหา "ความไวต่อยา" เพื่อจะได้รู้ว่าเป็น "เชื้อวัณโรคเทียม" ชนิดไหน การรักษาให้ได้ผลอาจให้ยาปฏิชีวนะ 2-3 ชนิด บางครั้งอาจใช้ยาร่วมกับยารักษาวัณโรคด้วย ระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับเชื้อนั้น ๆ

ทั้งนี้ หากสังเกตพบว่า มีอาการเหล่านี้ หรือสงสัยว่าป่วยควรรีบไปตรวจด้วยการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะ ณ โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการ การรักษาตามมาตรฐาน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองวัณโรค โทร. 02 212 2279 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422