จับตา​ WHO​ เตรียมยกระดับภาวะฉุกเฉิน​ โรคฝีดาษวานร​

11 ส.ค. 2567 | 09:55 น.

สาธารณสุข จับตาสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในทวีปแอฟริกา หลัง WHO เตรียมพิจารณาประกาศยกระดับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ

11 สิงหาคม 2567 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีองค์การอนามัยโลก หรือ WHO รายงานการระบาดโรคฝีดาษวานรที่พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในทวีปแอฟริกาว่า มี 15 ประเทศที่รายงานพบผู้ป่วยฝีดาษวานรในปีนี้ จำนวนผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 90 อยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือ DR Congo ในจำนวนนี้ 70 % เป็นผู้ป่วยเด็ก มีอัตราป่วยเสียชีวิตประมาณ 5 %

ประเทศที่พบผู้ป่วยล่าสุด ได้แก่ อูกันดา เคนยา รวันดา ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของ DR Congo แต่ที่น่าเป็นห่วงและต้องจับตา คือ ผู้ป่วยฝีดาษวานรมีจำนวนเพิ่มจากปีที่แล้วมากและจากเดิมที่ระบาดในวัยผู้ใหญ่แต่ขณะนี้มีผู้ป่วยเด็กเพิ่มจำนวนรวดเร็ว

หลังตรวจพบสายพันธุ์ย่อย Clade Ib ที่ติดต่อได้ง่ายขึ้น จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนองหรือสารคัดหลั่งที่มีเชื้อไวรัส หรือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัส โดยผู้ติดเชื้อจะมีลักษณะที่สังเกตได้ คือ มีตุ่มน้ำ หรือ ตุ่มหนอง นอกจากมีไข้ เจ็บคอ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กำลังเชิญประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาว่าสมควรที่จะประกาศให้การระบาดของโรคฝีดาษวานรในรอบใหม่นี้ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern) หรือไม่ เพื่อจะได้เพิ่มการระดมทรัพยากรให้การช่วยเหลือประเทศที่ประสบกับการระบาดรุนแรงได้เหมาะสม

ในส่วนของประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายกรมควบคุมโรค ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองโรค ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และโรงพยาบาลทุกแห่ง ประสานแจ้งให้คนไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศที่ระบาดสังเกตและแจ้งอาการต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และหากสงสัยว่า ป่วยภายหลังกลับมาถึงแล้ว ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาทันที

สำหรับประชาชนทั่วไป ขออย่าได้วิตกกังวลเนื่องจากประเทศไทยมีประสบการณ์รับมือกับโรคฝีดาษวานรที่เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และมีระบบเฝ้าระวังคัดกรองและป้องกันควบคุมโรคที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับโลก