เพิ่ม thansettakij
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
ผู้สื่อข่าว”ฐานเศรษฐกิจ” รายงานว่า วันที่ 31 ม.ค. 2566 ที่ห้องประชุมโครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล(หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดเกสรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) ต.บ้านตาด อ.เมืองอุดรธานี พระราชภาวนาวชิรากร หลวงพ่ออินถวายสันตุสโก เจ้าอาวาสวัดอุดมมงคล( วัดป่านาคำน้อย) ประธานองค์อุปถัมภ์ นำแถลงข่าว โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง และศูนย์การแพทย์สถาบันพระบรมราชชนก
จากนั้นได้มีการประชุมหารือพิธีวางเสาเอกเพื่อเริ่มการก่อสร้าง ในวันที่ 18 ก.พ.2566 ที่ตำบลสามพร้าว อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี โดยพระราชภาวนาวชิรากร (หลวงพ่ออินถวายสันตุสโก) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ประกอบพิธีวางเสาเอก และประพรมน้ำพระพุทธมนต์
โดยฝ่ายฆาราวาสประกอบด้วย ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียมถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ดร.นพ.ปราโมทย์ กิ่งโก้ ผู้จัดการศูนย์กลางสุขภาพลุ่มน้ำโขง พ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี นายวันชัย อนุตรชัชวาล ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงาน หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน เข้าร่วม
โครงการนี้สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) มีมติจากการประชุมครั้งที่ 2/2565 วันที่ 29 ก.ย. 2565 อนุมัติหลักการโครงการจังหวัดอุดรธานีเมืองทางการแพทย์สู่ระเบียงเศรษฐกิจอีสานตอนบนสู่อินโดจีน (Udonthani Green Medical Town : UDGMT)
ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาจังหวัดอุดรธานี ให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์นานาชาติที่มีมูลค่าสูง เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพระดับโลก ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพลิกโฉมจังหวัดอุดรธานี เป็นมหาอำนาจด้านสุขภาพของโลก (World Class Wellness Destination) ภายใต้การขับเคลื่อนและการบูรณาการความร่วมมืออย่างเป็นเอกภาพ ระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม
ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย 1) โครงการจัดตั้งศูนย์การแพทย์สถาบันพระบรมราชชนก 2) โครงการจัดตั้งศูนย์มะเร็ง เพื่อเป็นศูนย์การแพทย์แม่นยำภายในภูมิภาคอินโดจีน และ 3) โครงการจัดตั้งด้านการตรวจสารพันธุกรรมและการแพทย์แม่นยำ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาทุนมนุษย์ และการพัฒนาบริการศักยภาพสูง เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูด
สถาบันพระบรมราชชนก ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้จัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์การแพทย์สถาบันพระบรมราชชนกขึ้นมารองรับ โดยเป็นสถานบริการสุขภาพระดับตติยภูมิ ในการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข สำหรับประชาชนในพื้นที่ เขตสุขภาพที่ 8 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นสถานที่ผลิตและพัฒนาบุคลากร ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในสาขาต่าง ๆ ทางการแพทย์และสาธารณสุข
รวมทั้งยกระดับศักยภาพทางการศึกษา วิจัย และบริการวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้การปักหมุดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนทางการแพทย์นานาชาติ (World Class Academic Campus) รองรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติในภูมิภาคอินโดจีน
แผนงานขับเคลื่อนโครงการที่สำคัญในระยะที่ 1 (พ.ศ.2566-2568) โดยสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี และสถาบันพระบรมราชชนก คือ การก่อสร้างโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ 300 เตียง ประกอบด้วย อาคาร 6 หลัง ได้แก่
1) อาคารผู้ป่วยนอก และอุบัติเหตุฉุกเฉิน
2) อาคารผู้ป่วยใน 300 เตียง
3) อาคารผู้ป่วยนอก 5 ชั้น
4) หอพัก เจ้าหน้าที่ 96 ห้อง
5) อาคารบริการ 4 ชั้นอาคารพักศพ และ
6) อาคารศาลาสามัคคี (ศาลาธรรม)
งบประมาณการก่อสร้าง จำนวน 1,200 ล้านบาท เป็นงบประมาณจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาค โดยมีพระราชภาวนาวชิรากร (หลวงพ่ออินถวาย สันตุสสโก) เป็นประธานองค์อุปถัมภ์ ซึ่งจะมีพิธีวางเสาเอกเพื่อเริ่มการก่อสร้างดังกล่าว