Cosmetic treatment ฟื้นตัว ‘AESLA’ รีแบรนด์ ลุ้นโกย 600 ล้านใน 3 ปี

27 ม.ค. 2566 | 10:45 น.

ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เพื่อเสริมความงามฟื้นตัวแรง คาดมูลค่าแตะ 1.93 แสนล้านบาทในปี 2570 “เทคนิคอล ไบโอเมด” รีแบรนด์สู่ “AESLA” รุกตลาดนวัตกรรมความงามไทย จัดโครงสร้างธุรกิจใหม่รับยุคดิจิทัล

ตลาดเสริมความงามทั่วโลกหลังโควิดแนวโน้มฟื้นตัวแรงจากดีมานด์นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านความงาม โดยในช่วงก่อนโควิด-19 (ปี 2562) ไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติที่ต้องการเสริมความงามมากที่สุดในโลก ขณะที่ Krungthai COMPASS ประเมินว่า ตลาดเสริมความงามไทยมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องจากกลุ่มลูกค้าชาวไทย และกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่ต้องการเดินทางเพื่อเสริมความงาม

ปัจจัยที่ช่วยให้ตลาดนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด คือ การขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเพื่อเสริมความงาม ซึ่งจากข้อมูลจาก Allied Market Research พบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เพื่อเสริมความงาม (Cosmetic treatment) สร้างรายได้ให้ไทยมากที่สุด

โดยคาดว่าในปี 2570 จะมีมูลค่าตลาดกว่า 5,860 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.93 แสนล้านบาท คิดเป็น 24% ของมูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย และจากข้อมูลของ Grand View Research คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดเสริมความงามของไทยมีโอกาสขึ้นไปแตะระดับ 7,510 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.48 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 16.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เกือบ 3 เท่า

Cosmetic treatment ฟื้นตัว ‘AESLA’ รีแบรนด์ ลุ้นโกย 600 ล้านใน 3 ปี

นายวรุตม์ สุทธินันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทคนิคอลไบโอเมด จำกัด เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมความงามโลกหลังโควิด-19 นั้น มีการฟื้นฟูและเติบโตอย่างรวดเร็วจากการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ การเห็นคุณค่า และต้องการดูแลตัวเองมากยิ่งขึ้นของผู้คน ทำให้ความต้องการและการขยายตัวของการลงทุนในตลาดกลุ่มเครื่องมือแพทย์ด้านความงามสูงมากขึ้นเป็นพิเศษ แต่ความสามารถในการผลิตที่จำกัดในช่วงที่ผ่านมาทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าจากทั่วโลกยังไม่พอเพียงต่อความต้องการโดยรวม ส่งผลให้ตลาดยังเติบโตไม่เต็มที่ในปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะมีทิศทางในการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อย 3-5 ปีข้างหน้า

สำหรับประเทศไทยมีแนวโน้มการขยายตัวไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดโลก โดยตลาดนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ด้านความงามในประเทศไทย ปี 2565 มีมูลค่าโดยรวมกว่า 2,000 ล้านบาท ขยายตัวกว่า 15% ส่วนนวัตกรรมความงามในปัจจุบันยังคงเน้นการแก้ปัญหาผิวต่างๆ บนใบหน้าโดยเฉพาะการแก้ปัญหาเม็ดสีบนใบหน้าและการยกกระชับผิวหน้าที่เห็นผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดจึงแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยีที่เห็นผลการรักษาที่ชัดเจน ปลอดภัยรวดเร็วกว่าเดิม การลดความเจ็บปวดและใช้เวลาในการพักฟื้นหลังการรักษาน้อยลง

 

ทั้งนี้ เทคนิคอลไบโอเมด ได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจโดยรีแบรนด์ใหม่เป็น “AESLA” พร้อมกับปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายธุรกิจด้วยสินค้าและบริการนวัตกรรม ทั้งตลาด B2B และ B2C ผ่านสินค้าและบริการเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. นำเข้า-จัดจำหน่ายสินค้ากลุ่มเครื่องมือแพทย์ด้านความงาม ให้แก่แพทย์และสถานประกอบการ

2. นำเข้า-จัดจำหน่ายสินค้ากลุ่ม Consumable Products สำหรับกลุ่มแพทย์ด้านความงาม ให้แก่แพทย์และสถานประกอบการ 3. นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าเครื่องมือแพทย์ด้านความงามในกลุ่ม Home Use เพื่อการใช้ในครัวเรือน และ 4. จำหน่ายสินค้าและให้บริการด้าน Digital Platform ต่างๆ สำหรับผู้บริโภคทั่วไป โดยครอบคลุมทั้งในส่วนของใบหน้า รูปร่าง ผิวพรรณ กล้ามเนื้อ รวมถึงปัญหาสุขภาพของผู้หญิง และการปลูกผม

ขณะเดียวกันบริษัท ยังมุ่งเน้นสร้างความรู้ให้แก่อุตสาหกรรมความงาม โดยมีแผนเข้าร่วมกับโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ต่างๆ เพื่อศึกษาผลการใช้นวัตกรรมความงามกับรอยโรคที่ซับซ้อนและยากในการรักษา และเผยแพร่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนไทยมากที่สุด พร้อมกับเพิ่มทีมงานและขยายจุดบริการในหัวเมืองภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน เพื่อให้บริการได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกันยังปรับปรุงจัดการภายในองค์กร นำมาตรฐาน ISO 9001 และ 14001 Version 2015 พร้อมระบบต่าง ๆ มาใช้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความพึงพอใจแบบยั่งยืนและร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม

“ในปีที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายรวมกว่า 300 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ประมาณ 16% จากมูลค่าโดยรวมของตลาดสินค้าเครื่องมือแพทย์ด้านความงามในประเทศ และเติบโตจากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 50% ในปีนี้ AESLA วางเป้าหมายเพื่อก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำของบริษัทเครื่องมือแพทย์ด้านความงามของประเทศไทยภายในระยะเวลา 3 ปีหลังจากนี้ เราเชื่อว่า หลังการ Rebranding จะมีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่า 35% ในปี 2023 หรือมีรายได้อยู่ที่ 500-700 ล้านบาท ภายในช่วงระยะ 3 ปีข้างหน้าตามที่วางเป้าไว้”

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,856 วันที่ 26 - 28 มกราคม พ.ศ. 2566