“ฟอร์มาลีน” เช็ควิธีเลือกซื้ออาหารสดอย่างไรให้ปลอดภัย

05 ธ.ค. 2565 | 07:05 น.

“ฟอร์มาลีน” คืออะไร ทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยจาก “ฟอร์มาลีน” พร้อมวิธีเลือกซื้ออาหารสด อาหารทะเลอย่างไรให้ปลอดภัย

สาวกหมูกระทะ ช่วงนี้อาจต้องระมัดระวัง เพราะกรมปศุสัตว์​ ตรวจพบและทลายโรงงานผลิตวัตถุดิบเครื่องในหมู เนื้อ ซึ่ง แช่สารฟอร์มาลีน ที่ จ.ชลบุรี ​ซึ่งพบออเดอร์ส่งออกร้านอาหารถึง 66 ร้าน โดยของกลางที่ถูกตรวจพบมีปริมาณถึง 25,000 กิโลกรัม​

การตรวจพบ “ฟอร์มาลีน” ในอาหารทะเล อาหารสด เจออยู่เรื่อย ๆ ผู้ประกอบการมักใช้สารนี้เพื่อรักษาความสดของอาหารเอาไว้ให้ได้นานยิ่งขึ้น ในฐานะผู้บริโภค ฐานเศรษฐกิจ จึงรวบรวมความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภค

“ฟอร์มาลีน” คืออะไร

  • มีส่วนประกอบหลัก คือ ฟอร์มาลดีไฮด์ 37% ลักษณะเป็นน้ำใส ไม่มีสี กลิ่นฉุน และมีฤทธิ์ระคายเคือง โดยทั่วไปมีไว้เพื่อการฆ่าเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย
  • ทำให้สิ่งของบางอย่างขึ้นรูปและคงรูปอยู่ ใช้ในอุตสาหกรรม ใช้ในการเกษตร ใช้ในทางการแพทย์ ใช้ในเครื่องสำอางค์
  • ปัจจุบันมีการนำมาใช้ผิดประเภท คือ ใส่ในอาหารโดยเฉพาะพวกอาหารทะเลที่เน่าเสียไว ซึ่งฟอร์มาลีนก่อให้เกิดอันตรายมากมาย
  • ฟอร์มาลีน นิยมใส่ในอาหารทะเลสดทั่วไป โดยเฉพาะปลาหมึก และแมงกะพรุน รวมถึงอาหารทะเลประเภทอื่น ๆ เช่น ปลาหมึกกรอบ สไบนาง และเล็บมือนาง เป็นต้น
  • จัดเป็นสารเคมีที่ห้ามใช้ในอาหาร ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่ง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 หากตรวจพบจะเข้าข่ายอาหารไม่บริสุทธิ์มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

เมื่อทานอาหารที่มีส่วนผสมของฟอร์มาลีนเข้าไปจะเป็นอย่างไร 

  • ผลต่อระบบผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรง
  • หากทานอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้งคลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว 
  • ผลระยะยาวสารฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารประกอบของฟอร์มาลีน เป็นสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย 

 

วิธีเลือกซื้อ รับประทานอาหารให้ปลอดภัยจากฟอร์มาลีน

  • วิธีการดมกลิ่น ถ้าอาหารนั้นมีกลิ่นฉุนแสบจมูก ให้สงสัยว่ามีฟอร์มาลินอยู่
  • ก่อนการทำอาหารควรล้างให้สะอาด เพราะฟอร์มาลินส่วนมากจะถูกชะล้างออกไปหมดเนื่องจากมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี
  • ควรปรุงอาหารให้สุกก่อนบริโภค