1 ธ.ค. วันเอดส์โลก สปสช.ร่วมรณรงค์ทำให้“เท่าเทียม”

01 ธ.ค. 2565 | 06:22 น.

1 ธ.ค. วันเอดส์โลก สปสช. ร่วมรณรงค์ “ทำให้เท่าเทียม” ขับเคลื่อน 4 ประเด็น ลดตีตรา/เลือกปฏิบัติ ส่งเสริมใช้ถุงยาง เข้าถึงชุดตรวจ และส่งเสริมบริการเอชไอวีโดยชุมชน

วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็น “วันเอดส์โลก” (World AIDS Day) เพื่อให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ การยอมรับและเข้าใจผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก ในปีนี้ UNAIDS ได้รณรงค์ในประเด็น “Equalize : ทำให้เท่าเทียม

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560 – 2573 ที่มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา”

 

ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง 30 บาท” บรรจุสิทธิประโยชน์ “การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์” เริ่มตั้งปีงบประมาณ 2549 เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทยขณะนั้นคาดว่ามีประมาณ 6 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ต้องได้รับยาต้านไวรัสราว 50,000 คน เพื่อให้เข้าถึงการรักษาและบริการอย่างเท่าเทียม ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเอชไอวีและเอดส์เป็นปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรง มีผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลจึงจัดสรรงบประมาณ 2,796.2 ล้านบาท ให้ สปสช. ดำเนินการดูแลโดยแยกจากงบเหมาจ่ายรายหัว     

17 ปีที่ผ่านมาด้วยการพัฒนาสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ของ สปสช. อย่างต่อเนื่องร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เป็นต้น ส่งผลให้สิทธิประโยชน์การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ครอบคลุมทุกๆ ด้านและทุกๆ มิติ ตั้งแต่บริการตรวจหาเชื้อเอชไอวี บริการรักษาพยาบาล และบริการป้องกัน เกิดการเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม 

 

เริ่มตั้งแต่สิทธิประโยชน์ยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานภายหลังการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา(CL) โดยกระทรวงสาธารณสุข

 

ขยายบริการยาต้านไวรัส โดยไม่จำกัดระดับภูมิคุ้มกัน(CD4)

 

ให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก

บริการให้การปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ (VCT) ทุกสิทธิฟรีปีละ 2 ครั้ง

 

บริการยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP)

 

บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ (HIV PEP)

 

บริการคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซีในผู้ติดเชื้อฯ และนำเข้าสู่การรักษา

 

บริการเอกซเรย์ปอดคัดกรองวัณโรคในผู้ติดเชื้อฯ รายใหม่ทุกราย

 

บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการตรวจเลือดและดูแลรักษา (RRTTPR)

 

บริการถุงยางอนามัย ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมบริการของศูนย์องค์รวมในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชเอไอวีและผู้ที่มีภาวะเสี่ยงฯ ร่วมกับโรงพยาบาล

 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ข้อมูลปี 2565 (30 ก.ย. 65) มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์รับยาต้านไวรัสในระบบ (National AIDS Program NAP) 297,022 คน กลุ่มเสี่ยงเข้าถึงบริการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี 119,756 คน ศูนย์องค์รวมจัดกิจกรรมในการดูแลผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงคู่ผลเลือดต่าง 68,369 คน และบริการยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเสี่ยง (PrEP) 10,074 คน และในปีงบประมาณ 2566 สปสช.จัดสรรงบประมาณ 3,978.5 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนสิทธิประโยชน์บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ทั้งหมด

 

“ความเท่าเทียม” เป็นหลักการสำคัญของการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีภายใต้กองทุนบัตรทองที่ สปสช. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และในวันเอดส์โลกปีนี้ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขมุ่งดำเนินการเพื่อ “ทำให้เท่าเทียม” สร้างความตระหนักและความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า “เอดส์เป็นเรื่องปกติ” นั้น สปสช.ในฐานะภาคีเครือข่ายพร้อมสนับสนุนทั้ง 4 ประเด็นของการขับเคลื่อน ทั้งการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี การส่งเสริมใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ การเข้าถึงชุดตรวจเชื้อด้วยตนเอง (HIV Self-Test) ที่เข้าถึงได้ง่ายด้วยความสมัครใจ และการส่งเสริมการจัดบริการเอชไอวีโดยชุมชน ในรูปแบบการให้บริการโดยองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ 

 

ขณะเดียวกัน ยังมีความร่วมมือระหว่างองค์ภาคประชาสังคมที่ให้บริการด้านเอชไอวีและ สปสช. ในการเข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการระบบบัตรทอง โดยเป็นการขึ้นทะเบียนร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านในระบบบัตรทอง ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบให้องค์กรฯ ที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐานการจัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนโดยกรมควบคุมโรค เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 พร้อมรับค่าบริการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อร่วมบริการประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้เกิดการเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น

 

โดยจะเป็นส่วนที่เข้ามาช่วยเสริมการให้บริการหน่วยบริการที่มีอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะการทำงานเชิงรุกในชุมชน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 ซึ่งขณะนี้มีองค์กรภาคประชาสังคม 17 องค์กรที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการแล้ว