โควิดกลายพันธุ์คลื่นลูกใหม่ที่กำลังก่อตัว

19 พ.ย. 2565 | 11:00 น.

โควิดกลายพันธุ์คลื่นลูกใหม่ที่กำลังก่อตัว ศูนย์จีโนม ฯ ระบุจะระบาดไปทั่วโลก ในขณะเดียวกันพบการระบาดโควิดจากคนสู่สัตว์ (กวาง) และแพร่กลับมาสู่คน

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า ระบุว่า โควิดกลายพันธุ์คลื่นลูกใหม่ที่กำลังก่อตัวที่จะระบาดไปทั่วโลกในขณะเดียวกันพบการระบาดโควิดจากคนสู่สัตว์ (กวาง) และแพร่กลับมาสู่คนบ่งชี้ว่าไม่ง่ายที่จะควบคุมหรือยุติการระบาดของโควิด คงต้องอยู่ร่วมกันไปอีกนาน

 

 

ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่จากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยสมาชิกในกลุ่มซุปโอมิครอน ซึ่งมีการกลายพันธุ์แตกต่างกันไป เช่น BQ.1, BR.2.75, XBB ฯลฯ

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ตรวจพบในประเทศไทย หลังจาก BA.5 เริ่มอ่อนกำลังการระบาดลงด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและแชร์ข้อมูลบนฐานข้อมูลโควิดโลก “กิสเสด (GISAID)” คือ

 

1. BA.5* (BA.5.X) จำนวน 2,449 ราย

2. BA.2.75 จำนวน 90 ราย

3. XBB จำนวน 5 ราย

XBB.1 จำนวน 4 ราย

4. BN.1 จำนวน 5 ราย

5. BF.7 จำนวน 2 ราย

6. BQ.1 จำนวน 1 ราย

7. BQ.1.10 จำนวน 2 ราย

โดยยังไม่พบสายพันธุ์ลูกผสม XBC จากฐานข้อมูลโควิดโลก “กิสเสด” ในขณะนี้ (18/11/2565) ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาทั่วโลกสังเกตพบการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกันไปในแต่ละทวีปโดยการกลายพันธุ์ส่วนหนามบางตำแหน่งกลับมาเหมือนกัน เพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันทั้งที่ได้จากวัคซีนและจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ รวมทั้งเพื่อใช้ยึดเกาะกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้นซึ่งเรียกการวิวฒนาการแบบนี้ว่าการวิวัฒนาการที่มาบรรจบกัน (convergent evolution)

 

การวิวัฒนาการในลักษณะกลับมาบรรจบกันที่ชัดเจนคือการวิวัฒนาการของโครงสร้าง “ปีก” ของสัตว์ที่มีบรรพบุรุษต่างกันมา แต่มีคุณสมบัติเดียวกันคือช่วยให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเคลื่อนที่บนอากาศได้ เช่น ปีกของ นก ค้างคาว ไดโนเสาร์ และ ผีเสื้อ โดยการวิวัฒนาการในลักษณะนี้ (convergent evolution) พบในส่วน “หนาม”ของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์ เช่น BQ.1.1, BA.2.3.20, BA.2.75.2, และ XBB เพื่อช่วยหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนและภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และช่วยให้ยึดเกาะกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น ทำให้โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่เหล่านี้สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ BA.5 ดั้งเดิมได้ดีขึ้น จนมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำให้เกิดการระบาดของ(โอมิครอน)คลื่นลูกใหม่ไปทั่วโลก

 

นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดายังพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.641 ซึ่งหลบไประบาดในกวางระยะหนึ่งและแพร่กลับมาสู่คน โดยหน่วยงานสาธารณสุขของแคนาดา (PHAC) ยืนยันเหตุการณ์ดังกล่าว มีการตีพิมพ์รายละเอียดในวารสารการแพทย์ Nature (https://www.nature.com/articles/s41564-022-01268-9) เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565

 

ไวรัสโคโรนา B.1.641 ตรวจพบเมื่อปลายปี 2564 ในกวางหางขาว 5 ตัวจากการสุ่มสวอปจมูกกวางหางขาวไปทั้งสิ้น 300 ตัว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐออนแทรีโอในแคนาดาและในช่วงเวลาเดียวกันมีการตรวจพบไวรัสโคโรนาที่มีรหัสพันธุ์คล้ายคลึงกับสายพันธุ์ B.1.641 ประมาณ 80-90% ในผู้ติดเชื้อรายหนึ่ง คาดว่าติดมาจากการสัมผัสกวาง อันเป็นหลักฐานชิ้นแรกของการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาจากกวางกลับมาสู่คน

 

จากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมพบว่าไวรัสโคโรนา B.1.641 มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนาดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ถึง 76 ตำแหน่ง และมีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับสายพันธุ์ เบต้า ไอโอตา และเอปซิลอน บ่งชี้ว่าไวรัสโคโรนา B.1.641 มีการแพร่จากคนมาสู่กวางและแพร่หมุนเวียนและมีวิวัฒนาการในประชากรกวางเป็นเวลาหลายเดือน! ก่อนที่จะกลับมาติดผู้ติดเชื้อรายดังกล่าว

 

อนึ่ง เพื่อการเปรียบเทียบ ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ อัลฟา เบตา และเดลตามีการกลายพันธุ์ไปประมาณ 24 - 40 ตำแหน่ง ในขณะที่โอมิครอน BA.5 กลายพันธุ์ต่างไปประมาณ 105 ตำแหน่ง ต่างจากไวรัสดั้งเดิม "อู่ฮั่น"

ข่าวดีก็คือผลจากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบแอนติบอดีจากผู้ที่หายจาก COVID-19 หรือจากผู้ที่รับวัคซีนสองหรือสามโดส สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสโคโรนา B.1.641 จากกวางได้ดี ทำให้เรายังไม่พบการระบาดในคนถัดจากผู้ติดเชื้อรายนั้น

 

ดังนั้นไวรัสโคโรนา 2019 ไม่เพียงแต่แพร่ระบาดระหว่างคนสู่คนเท่านั้น ยังสามารถหลบเข้าไประบาดในสัตว์มีกระดูกสันหลังที่เลี้ยงลูกด้วยนมและกระโจนกลับมาติดมนุษย์ได้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้การควบคุมหรือกำจัดไวรัสโคโรนา 2019 ยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะการควบคุมการระบาดไวรัสในสัตว์ไม่สามารถกระทำได้โดยง่ายเมื่อเทียบกับการควบคุมการระบาดในคน