ผงะ! โอมิครอนมีมากกว่า 300 สายพันธุ์ ชี้ "โควิด19" ไม่เหมือนไข้หวัดใหญ่

23 ต.ค. 2565 | 00:38 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2565 | 07:41 น.

ผงะ! โอมิครอนมีมากกว่า 300 สายพันธุ์ ชี้ "โควิด19" ไม่เหมือนไข้หวัดใหญ่ หมอธีระเผยบทสัมภาษณ์ของ Dr. Soumya Swaminathan เป็น Chief scientist ขององค์การอนามัยโลก

โควิด19 ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องทั้วโลก โดยสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่เป็นสายพันธุ์หลักในขณะนี้

 

ล่าสุด รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ

 

การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องจำเป็น

 

Dr. Soumya Swaminathan ซึ่งเป็น Chief scientist ขององค์การอนามัยโลก ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ในงานประชุมประจำปีของเครือข่ายผู้ผลิตวัคซีนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (The annual general meeting of the Developing Countries Vaccine Manufacturers Network) ที่เมือง Pune ประเทศอินเดีย

 

โดยได้กล่าวว่า Omicron ในปัจจุบันมีมากกว่า 300 สายพันธุ์ย่อย โดย XBB เป็นสายพันธุ์ย่อยที่หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มาก และมีแนวโน้มจะนำไปสู่การระบาดระลอกใหม่ในประเทศต่างๆ ได้
 

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกคนตระหนักเสมอว่า แม้การฉีดวัคซีนไปนั้นจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงและการป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล 

 

แต่การติดเชื้อแต่ละครั้งจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล่นๆ 

 

Dr.Soumya ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า การที่มีหลายคนพยายามอ้างว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 เหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจทั่วไปนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง 

 

โอมิครอนมีมากกว่า 300 สายพันธุ์

 

เพราะข้อมูลวิชาการแพทย์มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นว่า เชื้อโรคโควิด-19 จะส่งผลต่อระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย 

 

ไม่ใช่แค่ระบบทางเดินหายใจ อาทิ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบ 

 

การเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวานกว่าสองเท่า รวมถึงผลต่อสมองและระบบประสาทได้

ดังนั้น การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ เป็นเรื่องจำเป็น ที่ทุกคนควรตระหนักและปฏิบัติ

 

ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวเสมอ

 

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก