พิษณุโลกคว้ารางวัลพิเศษ"เลิศรัฐ"ปี65จากผลงาน"คนพิดโลก ไม่ทิ้งกัน"

30 ก.ย. 2565 | 08:04 น.

จังหวัดพิษณุโลก เป็น 1 ใน 11 หน่วยงาน ที่ได้รับรางวัลพิเศษเลิศรัฐ ประจำปี 2565 สำหรับหน่วยงานที่มีผลงานโดดเด่น ในการขับเคลื่อนเพื่อรับมือกับสภาวะโควิด-19 จากผลงานโครงการ"คนพิดโลก ไม่ทิ้งกัน"ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก 

โครงการนี้มีที่มาจากในห้วงขับเคี่ยวกับการระบาดเชื้อโควิด-19 ในระลอกที่ 3-4 ประมาณกลางปี 2564 ที่กทม.เกือบเกิดวิกฤตระบบสาธารณสุข เมื่อมีคนไข้ประดังเข้ามาจนล้นเตียง คนติดเชื้อหาเตียงรักษาไม่ได้ หรือต้องใช้เวลารอนาน คนต่างจังหวัดที่มาติดเชื้ออยู่ในส่วนกลางก็เดือดร้อนมาก เพราะเมื่อติดเชื้อต้องกักตัว ห้ามเดินทางเนื่องจากเสี่ยงนำเชื้อไปแพร่กระจาย 

 

ขณะที่ในจังหวัดพิษณุโลกเองยังไม่เต็มศักยภาพ สามารถรักษาคนไข้ได้อยู่ ทำให้มีผู้ป่วยที่ไปติดเชื้ออยู่ในกรุงเทพฯหรือต่างถิ่น รวมถึงญาติพี่น้องก็ร้องขอเข้ามามาก ว่าขอพาตัวกลับมารักษาที่พิษณุโลก 

พิษณุโลกคว้ารางวัลพิเศษ"เลิศรัฐ"ปี65จากผลงาน"คนพิดโลก ไม่ทิ้งกัน"

เนื่องจากพิษณุโลกเป็นโรงพยาบาลศูนย์ของเขตภาคเหนือตอนกลาง หรือเขตสุขภาพที่ 2 ได้แก่ ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตั้งแต่เริ่มแรกได้นำหลักการสาธารณสุขฉุกเฉิน ตามระบบที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้  มาใช้ในการบริหารจัดการรับมือการระบาด รับรักษาคนไข้ทุกคนที่มาถึงมือ ไม่ว่าจะเป็นคนพิษณุโลก คนที่มาพักอาศัย หรือมาเจ็บป่วยที่นี่ หรือคนต่างจังหวัดถ้าเดินทางมาถึงได้ ก็รับรักษาทุกคน

 

ในระดับจังหวัดมีคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด หรือศบค.จังหวัด เป็นศูนย์กลางอำนวยการ ในการสั่งการ โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมบูรณาการในภาคปฎิบัติการในภารกิจต่าง ๆ ทั้งการรักษาพยาบาล การสื่อสารความเสี่ยง การควบคุมโรค การโลจิสติกส์ เป็นต้น ในการตอบโต้ภาวะวิกฤต ตามแนวทางหลักที่วางไว้ แต่ในทางปฎิบัติต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพหน้างา นและพัฒนาการของการระบาดที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วง

การรับมือเชื้อโควิด-19 ของพิษณุโลก ได้รวมพลังหน่วยงานทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร ตำรวจ จิตอาสาภาคประชาสังคม ร่วมมือกันหมดจนผ่านวิกฤตแต่ละระลอกมาได้

 

แต่ในระลอกที่ 3-4 ที่คนไข้ล้นเตียงในกทม. แต่ที่พิษณุโลกยังพอรับไหว คนพิษณุโลกที่ไปติดเชื้อรอรักษาอยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดไกล ๆ ญาติก็เป็นห่วง จะกลับบ้านพิษณุโลกก็ไม่ได้ เพราะคนติดเชื้อแล้วห้ามเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ เพราะควบคุมการะบาด ขึ้นรถโดยสารก็ไม่ได้ มีบ้างที่ใช้รถส่วนตัวมากันมา ผู้คนสิ้นหวังรู้สึกไม่ไหวแล้ว ก็เรียกร้องมาทางสสจ.พิษณุโลกให้ช่วยเหลือ

 

สสจ.พิษณุโลก จึงจัดทำโครงการ"คนพิดโลก ไม่ทิ้งกัน"ขึ้น แนวคิดคือ รับคนพิษณุโลกกลับบ้านมารักษา โดยผ่านระบบลงทะเบียนหลายช่องทาง อาทิ ทางQR Code ทางคอลล์ เซ็นเตอร์ หรืออินบ็อกซ์ในสื่อสังคม เพื่อจัดสรรให้เหมาะกับศักยภาพของจังหวัดที่จะรองรับ หรือเตรียมการทั้งต้นทางและปลายทาง 

 

จากนั้นจึงนัดหมาย โดยทางทหารมาช่วยในการลำเลียงผู้ป่วยชาวพิษณุโลก กลับบ้านมารักษาตัวในพื้นที่เป็นรอบ ๆ ตามความพร้อมของเตียง หรือที่พักในการรับผู้ป่วย และบุคลากร-ยานพาหนะในการเดินทาง เพราะไปรับครั้งหนึ่งกลับมาต้องกักตัวตามเกณฑ์ และรถต้องจอดทิ้งไว้ให้หมดเชื้อก่อน 

 

คนไข้ที่รับตัวกลับมาต้องเข้าศูนย์พักคอย เพื่อตรวจRT-PCR เอกซเรย์ปอด เพื่อจำแนกระดับความเจ็บป่วยและส่งต่อเข้ารับการรักษาตามกลุ่ม 

 

คนไข้สีแดง-อาการมากต้องใช้เครื่องมือแพทย์พิเศษ ต้องอยู่ห้องความดันลบ ส่งไปโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลใหญ่ที่มีเครื่องมือ

 

คนไข้สีเหลือง ระดับรองลงมาส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน ส่วนคนไข้สีเขียวติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ ก็ส่งไปพักในศูนย์แยกกักกันตัวในชุมชน(CI) หรือแยกรักษาตัวที่บ้าน(HI)  โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามอาการและสังเกตการณ์ 

 

ทั้งนี้ ในการสื่อสารติดตามอาการจะใช้การสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ อาทิ กลุ่มไลน์ เพื่อสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่หรือแพทย์เจ้าของไข้ 

 

"คนพิดโลก ไม่ทิ้งกัน"รับคนไข้จากส่วนกลางกลับมารักษาที่บ้านได้กว่า 1,000 ราย เป็นช่วงหนึ่งของการต่อสู้เขื้อโควิด-19

 

แต่การดำเนินงานใช้จะราบรื่นตลอดเวลา มีบ้างในช่วงแรกที่คนยังไม่เข้าใจไม่รู้จักโรค กลัวกันว่าถ้ารับผู้ติดเชื้อกลับมาอยู่ใกล้บ้าน จะเสี่ยงแพร่กระจายโรค มีกระแสต่อต้านอยู่บ้าง ก็ต้องอาศัยพลังท้องถิ่น นายอำเภอ หัวหน้าฝ่ายปกครองท้องที่ ผู้นำชุมชน เป็นตัวกลางไปสร้างความเข้าใจ ให้ความมั่นใจ และลึก ๆ แล้วคนไข้ก็เป็นลูกหลานเป็นเครือญาติกันในชุมชนอยู่แล้ว สุดท้ายก็ยอมให้ความร่วมมือ 

 

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในพิษณุโลกเองนั้น เนื่องจากเกิดการระบาดปะทุเป็นรอบ ๆ หลายครั้ง มีบางช่วงที่คนไข้เพิ่มจนเกือบเต็มศักยภาพโรงพยาบาลเช่นกัน แต่ก็ช่วยกันแก้ไขจนผ่านพ้นไปได้ เมื่อใกล้เต็มก็ได้ความร่วมมือของหน่วยงานข้างเคียง พลังชุมชน ร่วมกันขยายเตียง ตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามขึ้นมาแบ่งเบาภาระ จนต่อมามีฮอสพิเทล สำหรับผู้ไม่สะดวกรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม หรือต่อมาขยายเป็นศูนย์พักคอย และศูนย์แยกกักกันตัวผู้ป่วยในชุมชน (CI-Community Isolation) หรือการแยกรักษาตัวที่บ้าน(HI-Home Isolation)

 

มีความร่วมมือและประสานพลังระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ระดมกำลังกันเต็มที่  เนื่องจากการระบาดเชื้อโควิด-19 ครั้งนี้เป็นวิกฤตทางสาธารณสุขที่ใหญ่มาก นอกจากการดูแลรักษาคนไข้แล้ว เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของพิษณุโลกยังต้องจัดสรรกำลังไปดูแล ทั้งด้านการสื่อสารความเสี่ยง การควบคุมโรค จัดระบบโลจิสติกส์ต่าง ๆ  เป็นภารกิจที่ยืดเยื้อ หนักหนาสาหัส และใช้ทรัพยากรไปมาก 

 

แต่สิ่งที่ได้ก็คือ การรื้อฟื้นการตอบโต้สาธารณภัย ซึ่งแม้จะมีหลักเเกณฑ์ที่วางไว้เป็นแนวทางอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้ได้ปฏิบัติการจริง ที่ต้องปรับมาตรการไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปแต่ละช่วง ใช้ทรัพยากรและเครื่องไม้เครื่องมือเช่น เทคโนโลยีสื่อสารออนไลน์ มาปรับใช้ให้เหมาะสม เพื่อให้การเผชิญสาธารณภัยใหม่ ๆ ที่อาจมีขึ้นในโอกาสข้างหน้าจะได้มีความพร้อมเพิ่มขึ้น 

 

นายแพทย์ไกรสุข เพชระบูรณิน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก(สสจ.พิษณุโลก)  เป็นคนเพชรบูรณ์ ไปจบมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เชียงใหม่ และจบแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโทสาธารณสุขศาสตร์ ม.นเรศวร 

 

เริ่มทำงานเป็นนายแพทย์ 4 ที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ อยู่ที่แม่ฮ่องสอน 7 ปี ก่อนย้ายมาเป็นนายแพทย์ที่เพชรบูรณ์บ้านเกิด จนขึ้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเขาค้อ ต้นปี 2560 เป็นนายแพทย์(ด้านเวชศาสตร์ป้องกัน)สสจ.พิษณุโลก และอีก 6 เดือนกว่าก็ขยับเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (อำนวยการเฉพาะด้าน) สสจ.พะเยา 

 

29 เม.ย. 2563 ย้ายรับตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดผู้อำนวยการเฉพาะด้าน(แพทย์) สสจ.พิษณุโลก รับไม้ต่อสู้ศึกโควิดเวฟ 3 ที่หนักหน่วงสุด จนต้องงัดโครงการ"คนพิดโลก ไม่ทิ้งกัน"ออกมารับมือ ร่วมเป็นอีกหนึ่งแรงสู้ศึกโควิด-19 

 

และเป็นอีกผลงานรางวัลพิเศษ"เลิศรัฐ"ปี 2565 นี้