เช็คสิทธิการรักษาโควิด หลังเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง 1 ต.ค. 65

27 ก.ย. 2565 | 08:58 น.

เช็คสิทธิการรักษาโควิด หลัง ยุบ ศบค. และปรับโควิดเป็น โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังหลัง 1 ต.ค.นี้ มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง ?

โควิด 19 หลัง ยุบ ศบค. และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง 1 ต.ค.นี้ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุถึงสิทธิการรักษา โควิด 19 หลังเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง 1 ตุลาคม 2565 ระบุว่า

 

เมื่อติดโควิดหลังจากวันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป ประชาชนสามารถรับบริการรักษาพยาบาลได้ตามสิทธิ ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถรับการรักษาได้โรงพยาบาลตามสิทธิหรือเครือข่าย สิทธิข้าราชการไปโรงพยาบาลในสังกัดภาครัฐ ประกันสังคมรักษาโรงพยาบาลตามที่มีสิทธิอยู่ ซึ่งการดูแลรักษา แล้วแต่อาการตามดุลยพินิจของแพทย์

ขณะที่การแจก ATK เดิมในช่วงแรกที่มีการระบาด มีการแจก ATK ที่หน่วยบริการ ต่อมาระยะหลังแจกที่ร้านขายยา ช่วงหลังการลดระดับโควิดลงมา เฉพาะสิทธิหลักประกันถ้วนหน้า สามารถรับที่ร้านยาได้ แต่การแจก ATK จะลดระดับลงหลังจากวันที่ 1 ตุลาคมนี้

 

ประชาชนที่เคยใช้แอพเป๋าตังฯ ไปรับ ATK ที่ร้านยาจะไม่สามารถไปรับได้แล้ว ส่วนการรับบริการด้วยระบบการแพทย์ทางไกลผ่าน 4 แอปพลิเคชัน หลังวันที่ 1 ตุลาคม ยังคงเดินหน้าให้บริการประชาชนเช่นเดิม และประชาชนยังสอบถามรายละเอียดการรักษาทางสายด่วน สปสช. 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงเช่นเดิม

 

ขณะเดียวกันในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติเดิมก่อนหน้านี้ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิดรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายมาจากการใช้งบเงินกู้จาก พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ดังนั้นจะมีกติกาและมีการกำหนดรายการจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนประชาชน

 

ซึ่งในช่วงนั้นจะมีการจ่ายตั้งแต่ ค่ารักษาพยาบาล การคัดกรอง ตรวจ ATK การป้องกัน แต่เมื่อ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ หมดแล้ว ปัจจุบันเงินที่จ่ายเป็นค่ารักษาประชาชนมาจากงบประมาณของกองทุน สปสช. ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนงบประจำทุกปี จะมีการปรับกติกาเนื่องจาก เมื่อลดระดับความรุนแรงของโรคลง 

 

เงินชดเชยและค่าบริการ เดิมมีการจ่ายค่าบริการ การฉีดวัคซีนโควิดให้กับโรงพยาบาล ค่าบริหารจัดการศพ ค่าความเสียหายจากการฉีดวัคซีน ซึ่งได้มีการยกเลิก แต่ค่าความเสียหายจากการฉีดวัคซีนยังคงมีอยู่ หมายความว่าประชาชนที่ไปฉีดวัคซีนโควิดแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์มีสิทธิที่จะขอรับเงินเยียวยาได้เช่นเดิม ทุกสิทธิ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

การยุติการแจก ATK ที่ร้านยานั้น หากประชาชนที่ไปที่โรงพยาบาลแล้วแพทย์แนะนำให้ตรวจคัดกรองโดยการใช้ ATK หรือ RT-PCR ที่โรงพยาบาล ก็สามารถทำได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทางโรงพยาบาลจะเบิกกับ สปสช. นอกจากนั้นเดิมจะมีการจ่ายเรื่องการจ่ายเพิ่มเติมให้ในกรณีที่มีการรักษาผู้ป่วย ซึ่งเป็นผู้ป่วยในจะมีการจ่ายค่าห้องเพิ่มเติม เช่น คนไข้ที่อยู่ในห้องวิกฤต สปสช. จะจ่ายเพิ่มเติมให้ มีการจ่ายอุปกรณ์ในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ก็ยังคงมีการจ่ายให้กับโรงพยาบาลเหมือนเดิมเพียงแต่เปลี่ยนวิธีการจ่าย เดิมจะเป็นการจ่ายพิเศษ

 

ขณะที่ ค่าพาหนะในการรับส่งต่อ จากเดิมมีการจ่ายรวมค่าทำความสะอาด ค่าพีพีอี จะมีการเปลี่ยนไปจ่ายตามระยะทาง แต่ยกเลิกการจ่ายค่าพีพีอีและค่าทำความสะอาดรถในการส่งต่อให้กับโรงพยาบาล อีกกลุ่มที่เป็นผู้ป่วยที่เฝ้าระวังมากคือ ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

 

เดิม สปสช. จะจ่ายค่าฟอกเลือดครั้งละ 1,500 บาท ค่าชุดพีพีอีจ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 1,000 บาท และจ่ายค่ายานพาหนะในการรับส่งต่อรวมค่าทำความสะอาดรถด้วย ตอนนี้ยกเลิกเปลี่ยนเป็นการจ่ายเฉพาะค่าฟอกเลือด 1,500 บาท