ดิจิทัล เฮลท์แคร์-Future Food 2023 อนาคตสดใส

03 ม.ค. 2566 | 23:48 น.

2 เทรนด์มาแรงปี 2023 “Digital Healthcare” ตัวช่วยยกระดับ จุดเปลี่ยน “Health & Wellness” อาเซียน “Future Food” อาหารแห่งอนาคต ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร

สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” (Health & Wellness) และ “ความมั่นคงทางอาหาร” (Food Security) ถูกพูดถึงอย่างมาก หลังจากที่สหประชาชาติร่วมกันกำหนดให้เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และเป็นวาระการพัฒนาระดับโลกที่ต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2030

              

วาระดังกล่าวปลุกให้ทั่วโลกหันมาใส่ใจในเรื่องของการส่งเสริมคุณภาพ สวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพให้กับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ในทุกพื้นที่ แต่ยังกระตุ้นให้ธุรกิจการดูแลสุขภาพ (Healthcare) เติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อผนวกกับการเปลี่ยนแปลงที่ทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และการเกิดโรคอุบัติใหม่ ทำให้แนวโน้มการเติบโตและการลงทุนใน Health & Wellness ตามไปด้วย

Healthcare - Future Food

Digital Healthcare ตัวช่วย ยกระดับ Health & Wellness

              

จากข้อมูลสถาบันโกลบอล เวลเนส (Global Wellness Institute: GWI) ระบุว่าในปี 2563 พบว่า ตลาดสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี มีมูลค่าสูงถึง 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดย 2 กลุ่มธุรกิจใหญ่ ได้แก่ การดูแลตัวเอง ความงาม การชะลอวัย (Personal Care & Beauty) 9.55 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ที่คาดว่าจะมีการเติบโตเป็น 2 เท่าในปี 2573 มีมูลค่าเป็น 1.59 ล้านล้านเหรียญสหรัฐจากปี 2563 ที่มีมูลค่าราว 4.36 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

              

โดยพบว่าธุรกิจเฮลท์แคร์ ทั้งในกลุ่มธุรกิจ Pharmaceutical , กลุ่มธุรกิจ Biotechnology, กลุ่มธุรกิจ Healthcare Equipment & Supplies และกลุ่มธุรกิจ Healthcare Provider รวมถึงธุรกิจบริการ Healthcare Insurance ต่างเติบโตถ้วนหน้า และเทรนด์หนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือ “Digital Healthcare” ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมาก และกลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่หลายองค์กรนำมาใช้ขับเคลื่อน

              

ไม่ว่าจะเป็น บมจ. พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ กับการนำ AI หรือ Artificial Intelligent เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ การใช้ Mobile App สำหรับการดูประวัติการรักษาและจองนัดหมาย การใช้ ePayment ลดขั้นตอนการจ่ายเงิน เป็นต้น

              

นายศุภกร พะวันนา ผู้อำนวยการสายการตลาดเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล กล่าวว่า เครือโรงพยาบาลได้นำเอา Digital Engagement Model เข้ามาปรับใช้ ในการเก็บข้อมูล (Data) แล้วส่งต่อให้ทีมทำ Futuristic Data โดยนำข้อมูลเชิงลึกของแต่ละบุคคลมาวิเคราะห์ เพื่อวางแผนโปรแกรมการดูแลรักษาแบบ Human Touch Service

ศุภกร พะวันนา

มุ่งเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Healthcare) รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลของแต่ละคนแบบเจาะลึก สามารถออกแบบโปรแกรมตรวจสุขภาพให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล ให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคด้วย

              

“เทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนธุรกิจเฮลท์แคร์ และช่วยยกระดับบริการด้านสุขภาพรูปแบบเดิมให้ดีขึ้น นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของธุรกิจเฮลท์แคร์ในอาเซียน”

              

อย่างไรก็ดีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เชื่อว่า จะมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นในวงการ Healthcare อีกมากมาย

 

Future Food โตแรงตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร

              

ขณะที่ “ความมั่นคงทางอาหาร” (Food Security) ทั้งเรื่องของการมีอาหารเพียงพอ การเข้าถึงอาหาร การใช้ประโยชน์จากอาหาร และการมีเสถียรภาพด้านอาหาร แม้ดัชนีความมั่นคงด้านอาหาร ไทยอยู่ในอันดับที่ 51 ของโลกจากทั้งหมด 113 ประเทศ (จัดอันดับโดย The Economist Intelligence ในปี 2564)

 

ด้วยปริมาณการผลิตในประเทศใน 5 อาหารหลักของไทยที่เพียงพอ แต่ราคาอาหารโลกผนวกปัจจัยรอบด้านทำให้ราคาอาหารในประเทศสูงขึ้น ขณะที่ “อาหารแห่งอนาคต” (Future Food) เป็นหนึ่งทางเลือกที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และเชื่อว่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อความมั่นคงทางอาหารได้

Future Food               

จากข้อมูลสถาบันอาหาร ระบุว่า อาหารแห่งอนาคต แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ตามการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภค โครงสร้างประชากร กระแสด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ 1.อาหารเสริมสุขภาพ (Functional food) 2.อาหารอินทรีย์ (Organic food) 3.อาหารทางการแพทย์ (Medical food) และ 4. อาหารที่ผลิตขึ้นใหม่ทางนวัตกรรม (Novel food)

              

โดย Future Food ที่ได้รับความนิยมมากสุดคือ กลุ่มอาหารที่ผลิตขึ้นใหม่ทางนวัตกรรม (Novel food) ทั้งอาหารจากพืช (Plant-based food) ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ารวมกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 20% โดย Plant-based food ที่ได้รับความนิยมมากสุดได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์นม (Plant-based milk) 45% รองลงมาคือเนื้อสัตว์ทดแทน (Plant-based meat) 15% และไข่ทดแทน (Plant-based egg) 10%

 

และอาหารจากแมลง (Edible insect) ซึ่งตลาดนี้แม้ปัจจุบันจะมีมูลค่าน้อย แต่ไทยถือเป็นฐานส่งออกใหญ่ โดยมีมูลค่าการส่งออกราว 2,800 ล้านบาทหรือ 500-600 ตันต่อปี ขณะที่ตลาดโลกให้ความนิยมเพราะแมลงโปรตีนถือเป็นแหล่งโภชนาการสำคัญของคนในอนาคต ที่ให้ทั้งโปรตีน ไขมัน และพลังงานสูง สามารถเป็นแหล่งแร่ธาตุและวิตามินที่ดีแก่มนุษย์มากกว่าเนื้อสัตว์หลายชนิดที่เราบริโภคอยู่