เปิดสาเหตุโควิด19ไทยระบาดมากขึ้นเพราะอะไร ป้องกันยังไง คลิกเลย

08 ธ.ค. 2565 | 03:27 น.

เปิดสาเหตุโควิด19ไทยระบาดมากขึ้นเพราะอะไร ป้องกันยังไง คลิกเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยสรุปข้อมูลไว้ให้แล้ว

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ทำไมโควิดของไทยช่วงนี้จึงเพิ่มมากขึ้น เหตุคือมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ของไวรัสจาก BA.5 เป็น BA.2.75

 

จากสถานการณ์ตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นมา จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิดของไทยขยับตัวเพิ่มขึ้น จนอาจถือได้ว่าเป็นระลอกใหม่ แม้จะเป็นระลอกที่ไม่ใหญ่มากนักก็ตาม

 

มีปัจจัยหลายประการ ที่ทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นคือมีการกลายพันธุ์ของไวรัส เป็นสายพันธุ์ที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้มากขึ้น

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ออกมาแถลงข้อมูลล่าสุดว่า ไวรัสสายพันธุ์หลักของไทย ได้เปลี่ยนจาก BA.5 เป็น BA.2.75 แล้ว ซึ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดมากกว่า

 

จึงส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ร่วมกับปัจจัยเรื่องวินัยในการป้องกันโรคที่อาจจะผ่อนคลายลง และอากาศในฤดูหนาวที่จะทำให้ไวรัสแพร่กระจายได้มากขึ้น

 

โดยข้อมูลในช่วงสัปดาห์ วันที่ 26 พฤศจิกายนถึง 2 ธันวาคม 2565 พบไวรัส BA.2.75 เป็นสายพันธุ์หลัก 75.9% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 58.9%

 

โดยที่พบสายพันธุ์ BQ.1 จำนวน 13 ราย และ XBB จำนวน 30 ราย ส่วนXBC หรือ Deltacron พบเพียงหนึ่งราย

ถ้าทบทวนชนิดของไวรัสที่พบในประเทศไทย จะมีข้อมูลดังนี้

 

ระลอกที่หนึ่ง

  • ไวรัสอู่ฮั่น
  • ช่วงมกราคมถึงพฤษภาคม 2563

 

ระลอกที่สอง

  • ไวรัสอู่ฮั่น
  • ช่วงธันวาคม 2563 ถึงมีนาคม 2564

 

เปิดสาเหตุโควิด19ไทยระบาดมากขึ้นเพราะอะไร

ระลอกที่สาม

  • ไวรัสอัลฟ่า ตามด้วยเดลตา
  • ช่วงเมษายน ถึงธันวาคม 2564

 

ระลอกที่สี่

  • ไวรัสโอมิครอน
  • พบตั้งแต่มกราคม 2565 เป็นต้นมาและโอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักของโลกและของประเทศไทยจนปัจจุบัน
  • เพียงแต่สายพันธุ์หลักโอมิครอนนั้น ยังมีสายพันธุ์แยกย่อยลงไปมากมายมากกว่า 500 สายพันธุ์ย่อย

ส่วนของไทยเรา พบสายพันธุ์ย่อยที่เป็นหลัก เปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด จาก BA.1 เป็น BA.2 เป็น BA.5 และปัจจุบันนี้เป็น BA.2.75

 

การที่จะช่วยกันทำให้สถานการณ์โควิดของไทยไม่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากนัก ยังคงเป็นหลักการเดิมๆที่ต้องย้ำกันอีกครั้งคือ การใส่หน้ากากในสถานที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง เพราะสามารถป้องกันไวรัสได้ทุกสายพันธุ์ ไม่ว่าจะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยอะไรก็ตาม

 

และการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 4 เพื่อให้ระดับภูมิคุ้มกันรองรับการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้ ควรพิจารณาฉีดหลังจากฉีดเข็มสุดท้ายไปแล้วมากกว่า 4 เดือน