ผู้ประกันตนติดโควิด-19 ใช้สิทธิอย่างไร หลังแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม

13 พ.ย. 2565 | 20:30 น.

"ประกันสังคม"ไขข้อสงสัย ผู้ประกันตนติดโควิด-19 ใช้สิทธิอย่างไร หลังกรมควบคุมโรครายงานสถานการณ์สัปดาห์ที่ 45 มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 12.8% เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

กรณีกรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทย สัปดาห์ที่ 45 (วันที่ 6-12 พ.ย. 65)  มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 12.8 เปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตยังมีแนวโน้มคงตัว 

 

ผู้ประกันตนติดโควิด-19 ใช้สิทธิอย่างไร

"ปาริฉัตร จันทร์อำไพ" ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ และรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา โควิด-19 ปรับเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง กรณีที่ตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด 

 

  • ถ้าไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล สามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้
  • กรณีที่มีอาการ ไอ หอบ เหนื่อย หรือมีไข้ สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามที่กำหนดสิทธิ หรือสถานพยาบาลอื่นได้ กรณีนี้สามารถเบิกตามประกาศฉุกเฉินได้

 

  • กรณีที่ไม่มีอาการ แต่ไม่สบายใจ ATK ขึ้น 2 ขีดไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้

 

อย่างไรก็ตามถ้าไม่มีอาการแนะนำให้พักรักษาตัวที่บ้าน จะดีที่สุด

 

 

ผู้ประกันตนติดโควิด-19 แต่ไม่สามารถไปโรงพยาบาลตามสิทธิได้

 

  • กรณีที่อยู่ต่างท้องที่ เช่น กลับบ้านต่างจังหวัด ถ้ามีอาการแค่มีไข้ หอบ เหนื่อย ไอ สามารถเข้าโรงพยายาลที่ใกล้ได้ สามารถเบิกเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ ถ้าเข้าโรงพยาบาลรัฐ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ถ้าเข้าโรงพยบาลเอกชนอาจมีเพดาน เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1,000 บาท ถ้าเป็นผู้ป่วนนอก ถ้าเป็นผู้ป่วยในก็จะมีรายการที่กำหนด

 

ดูคลิปไขข้อสงสัยฉบับเต็ม คลิกที่นี่

 

 

 

แนะกลุ่ม 608 เริ่มมีอาการป่วย - ATK พบเชื้อให้รีบพบแพทย์

 

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กลุ่ม 608 ที่เริ่มมีอาการป่วย ทั้งมีไข้ ไอ และ ATK พบเชื้อ ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโรคโดยเร็ว ทั้งนี้แพทย์อาจพิจารณาให้ LAAB (ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป)โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่อาจจะสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้น้อย 
           

สำหรับคำแนะนำ ในช่วงนี้ ผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนงดออกจากบ้าน และสมาชิกในครอบครัวที่เป็นกลุ่มวัยทำงาน มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสผู้ติดเชื้อนอกบ้าน เช่น ไปสถานบันเทิง ให้งดใกล้ชิดผู้สูงอายุ และพาพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอาในบ้าน รวมทั้งเด็กเล็ก เด็กนักเรียน เข้ารับการฉีดวัคซีน ทั้งเข็มแรกหรือเข็มกระตุ้นหากได้รับเข็มสุดท้ายมานานเกิน 4 เดือน  เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนัก และลดระยะเวลาการรักษาโรค ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือญาติต้องลางานเพื่อดูแลรักษาด้วย 
           

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียม ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน รวมทั้ง LAAB ไว้เพียงพอเพื่อรองรับการระบาดของโรคที่กำลังเพิ่มขึ้น รวมทั้งสถานพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั่วประเทศ มีความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยสามารถสอบถามวันเวลาที่ให้บริการ ก่อนไปรับการฉีดวัคซีนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย