สถานการณ์น้ำมันโลก ไตรมาสแรกของปี 2565 วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ผลักดันราคาน้ำมันดิบโลกทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

28 มี.ค. 2565 | 09:00 น.

สถานการณ์น้ำมันโลก ไตรมาสแรกของปี 2565 วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ผลักดันราคาน้ำมันดิบโลกทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตลาดน้ำมันเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงหลายมิติ อาทิ ราคาน้ำมันผันผวนสูง เส้นทางการค้า (Trade Flow) เปลี่ยนแปลง หลังจากปลายเดือน ก.พ. 65 รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนอย่างรวดเร็วและรุนแรงเกินความคาดหมายของชาติตะวันตก ที่ประเมินเบื้องต้นว่ารัสเซียจะเข้ายึดเพียงแคว้น Donetsk และ Luhansk ทางตะวันออกของยูเครน 

ในเบื้องต้น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (European Union) และชาติพันธมิตรตอบโต้ความก้าวร้าวของรัสเซียด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ อาทิ การคว่ำบาตรทางการค้า บุคคล สถาบันการเงิน รวมถึงตัดธนาคารบางแห่งของรัสเซียออกจากระบบ SWIFT (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) แต่ยังไม่ครอบคลุมการส่งออกปิโตรเลียม    

อย่างไรก็ดีกองทัพรัสเซียขยายแนวรบบุกกระหน่ำโจมตีเป้าหมายทั้งที่ตั้งทางทหาร และเขตอยู่อาศัย ทำให้ประชาชนเสียชีวิต ทำให้ในวันที่ 8 มี.ค. 65 สหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติเหลว และถ่านหินจากรัสเซีย เนื่องจากไม่ต้องการให้รัสเซียนำรายได้จากปิโตรเลียมมาสนับสนุนการทำสงคราม ความกังวลว่าอุปทานน้ำมันของรัสเซียอาจหายไปจากตลาดโลก ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ปิดตลาดทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี ที่ 127.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 1 – 15 มี.ค. 65 เพิ่มขึ้น 18.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากราคาเฉลี่ยเดือน ก.พ. 65 ที่ระดับ 112.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าราคาปิดตลาดวันสิ้นปี พ.ศ. 2564 ถึงเกือบร้อยละ 45

 

สถานการณ์น้ำมันโลก ไตรมาสแรกของปี 2565 วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ผลักดันราคาน้ำมันดิบโลกทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สหราชอาณาจักรจะยุติการนำเข้าน้ำมันรัสเซียภายในปี พ.ศ. 2565 นี้ ขณะที่ EU จะพิจารณาลดการนำเข้าก๊าซฯ ปริมาณ 1.12 แสนล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือคิดเป็น 72% ของปริมาณการนำเข้าก๊าซฯ จากรัสเซียทั้งหมดที่ 1.55 แสนล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อนึ่ง รัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ โดยในปี พ.ศ. 2564 ผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท อยู่ที่ระดับ 10.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรวม 6.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี จีนและอินเดียยังคงนำเข้าน้ำมันรัสเซีย เนื่องจากได้ราคาถูกกว่าแหล่งจัดหาอื่น ๆ รวมทั้งรักษาความสัมพันธ์กับรัสเซีย

ด้านอุปทานจากกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) แม้มีมติปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบอีก 400,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย. 65 แต่ตลาดน้ำมันโลกยังคงอยู่ในสภาวะตึงตัว เนื่องจากปริมาณการผลิตของ OPEC+ ที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงพอรองรับอุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มขึ้นหลังการฟื้นตัวจาก COVID-19 และไม่สามารถชดเชยการส่งออกน้ำมันของรัสเซียที่ลดลงจากมาตรการคว่ำบาตรได้ รวมทั้งการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ ( Joint Comprehensive Plan of Action หรือ JCPOA) ระหว่างอิหร่านกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจ P5+1 (สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร รัสเซีย ฝรั่งเศส จีน และเยอรมนี) ยังไม่บรรลุข้อตกลงทำให้อิหร่านยังไม่สามารถส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลก 

สถานการณ์น้ำมันโลก ไตรมาสแรกของปี 2565 วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ผลักดันราคาน้ำมันดิบโลกทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้อิหร่านผลิตน้ำมันดิบในปี พ.ศ. 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะผลิตได้ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายใน 8 เดือน หากมีการยกเลิกการคว่ำบาตร ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เดินทางไปเวเนซุเอลาซึ่งเป็นพันธมิตรของรัสเซีย เพื่อพบกับประธานาธิบดี Nicolás Maduro ในประเด็นเกี่ยวกับการคว่ำบาตรบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลาโดยประธานาธิบดี Maduro ระบุว่าหากมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวยุติลง เวเนซุเอลาจะสามารถส่งออกน้ำมันเพื่อลดภาวะอุปทานตึงตัว

การแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำมันทำให้ International Energy Agency (IEA) แนะนำให้ประเทศสมาชิกระบายน้ำมันดิบจากคลังสำรองน้ำมันทางเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ปริมาณรวม 60 ล้านบาร์เรล เป็นน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ 30 ล้านบาร์เรล ในช่วงเดือน เม.ย. – พ.ค. 65 และส่วนที่เหลือจากยุโรปและญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนกังวลว่าปริมาณการระบายน้ำมันดิบจาก SPR ข้างต้นจะแก้ปัญหาได้แค่ชั่วคราวแต่ยังไม่เพียงพอสำหรับชดเชยน้ำมันดิบจากรัสเซียที่ลดลง 

ด้านเศรษฐกิจคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อต่อสู้กับสภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ Goldman Sachs คาดว่าสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ 7 ครั้ง ๆ ละ 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.75-2.00% ภาวะเงินเฟ้ออาจลดลง แต่ต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นจะส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจ ซึ่งอาจส่งผลลบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และเป็นปัจจัยทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flow) ออกจากน้ำมัน 

สถานการณ์น้ำมันโลก ไตรมาสแรกของปี 2565 วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ผลักดันราคาน้ำมันดิบโลกทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Goldman Sachs วาณิชธนกิจชั้นนำของโลกคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ปี พ.ศ. 2565 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 130 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และในปี พ.ศ. 2566 อยู่ที่ 110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 135 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ผู้บริโภคลดการใช้พลังงาน และเกิดภาวะ Demand Destruction

อนึ่ง ตลาดน้ำมันเป็นส่วนหนึ่งในบรรดาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งล้วนได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยภาคพลังงาน เช่น ก๊าซฯ ถ่านหิน ภาคอุตสาหกรรม เช่น โลหะ ยูเรเนียม ไปจนถึงภาคเกษตรกรรม เช่น ข้าวสาลี และข้าวโพด ที่ราคาต่างพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ธุรกรรมของบริษัทผู้ค้าสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วโลก ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงราคา ต้องใช้เงินทุนมากขึ้น 

เมื่อ 16 มี.ค. 65 สหพันธ์ผู้ค้าพลังงานแห่งยุโรป (European Federation of Energy Traders: EFET) ซึ่งประกอบด้วยบริษัทพลังงานรายใหญ่ข้ามชาติและผู้ค้าชั้นนำ เรียกร้องขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน จากรัฐบาลและธนาคารกลาง เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤติกระแสเงินสด เนื่องจากปัจจุบันต้องใช้เงินทุนในการทำธุรกรรมปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น 2-6 เท่า เมื่อเทียบกับกลางปี พ.ศ. 2564

ผู้ค้าต้องลดกิจกรรมลง โดยซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์น้อยลง หรือลดสถานะในตลาดอนุพันธ์ ขณะที่ IEA รายงานว่าในวันที่ 15 มี.ค. 65 จำนวนความสนใจซื้อขายสัญญาน้ำมันล่วงหน้า (Open Interest) ทั้งในตลาด NYMEX และ ICE ลดลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่ ธ.ค. 2563 นักวิเคราะห์ Reuters มองว่าตลาดที่ขาดสภาพคล่องจะมีปฏิกิริยารุนแรงต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน สภาวะตลาดผกผันอย่างรุนแรงทั้งในขาขึ้นและขาลงจะยังคงดำเนินต่อไป

สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังไม่สิ้นสุด ขณะที่การเจรจาสันติภาพยังไม่มีข้อสรุป จะยังส่งผลต่อราคาน้ำมัน อนึ่ง การคว่ำบาตรส่งผลลบต่อเศรษฐกิจรัสเซียอย่างชัดเจน และอาจขยายวงไปสู่เศรษกิจทั่วโลกผ่านทางราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น การทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มแบ่งกลุ่มตามพันธมิตรทางการเมือง โลกแบ่งขั้วชัดเจน คือ จีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ และอิหร่าน แข่งขันกับสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศ EU รวมถึงพันธมิตรในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน ปัญหาทางการเมืองจะกระทบต่อการผลิตและขนส่งสินค้า จึงควรจับตาดัชนีบ่งชี้ภาวะเศรษกิจ เพื่อประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน  

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)