มุมมองเศรษฐกิจไทย ผ่านเลนส์ดุลบัญชีเดินสะพัด

08 ส.ค. 2565 | 09:14 น.

มุมมองเศรษฐกิจไทย ผ่านเลนส์ดุลบัญชีเดินสะพัด : คอลัมน์ ยังอีโคโนมิสต์โดย พิมฉัตร เอกฉันท์ ผู้เชี่ยวชาญศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics)

ดุลบัญชีเดินสะพัด หลายคนคงคุ้นหู แต่อาจจะยังไม่ทราบรายละเอียดมากนักว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดกับเศรษฐกิจไทยเกี่ยวข้องกันอย่างไร และดุลบัญชีเดินสะพัดจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน?

              

ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance) โดยปกติเป็นส่วนหนึ่งของดุลการชำระเงิน ซึ่งเป็นการวัดการไหลเข้า-ออกเงินจากต่างประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่

  1. ดุลการค้า (การส่งออกหักลบการนำเข้าสินค้า)
  2. ดุลบริการ (เช่น รายได้จากการท่องเที่ยว บริการทางการเงิน และอื่น ๆ)
  3. รายได้จากการทำงานและลงทุน (เช่น รายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ)
  4. เงินโอนและเงินบริจาค (เช่น เงินบริจาค / เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ)

กล่าวคือ หากไทยมีปริมาณเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามากกว่าเงินไหลออก จะเรียกว่าไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และหากเงินไหลเข้าน้อยกว่าเงินไหลออก เรียกได้ว่าเป็นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั่นเอง

 

ช่วงก่อนปี 2540 ประเทศไทยเคยประสบภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 5-8% ต่อจีดีพีติดต่อกันหลายปี ผลจากมูลค่าส่งออกที่น้อยกว่ามูลค่านำเข้าค่อนข้างมาก จนทำให้ขาดดุลการค้าเป็นเวลานานกว่า 10 ปี (ขณะที่ดุลบริการที่มาจากภาคท่องเที่ยว ณ ขณะนั้นยังน้อยมาก) นั่นหมายความว่า ค่าเงินบาทควรจะอ่อนค่าลงจากความต้องการเงินบาทเพื่อใช้ในการซื้อสินค้าน้อยลง  

แต่ ณ ขณะนั้น ไทยกลับใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอุดหนุนเพื่อรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ (Fixed Exchange Rate System) ที่ 25  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินบาทที่แท้จริงโดยเปรียบเทียบแพงเกินความเป็นจริง (Overvalued) และเมื่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอที่จะรักษาเสถียรภาพค่าเงินอีกต่อไป

 

ทำให้กลายเป็นช่องโหว่สำคัญที่ทำให้ไทยถูกโจมตีค่าเงินครั้งใหญ่จากการเก็งกำไรระยะสั้น จึงต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดในปี 2540  และลุกลามกลายเป็นวิกฤตการเงินเอเชีย ส่งผลให้เงินบาทอ่อนลงทันทีและอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนแตะระดับ 53 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นปี 2541

 

จากบทเรียนครั้งนั้น ไทยยังคงเจอวิกฤตการเงิน (After Shock) เป็นระยะๆ จนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้จำกัด ทำให้กระทบต่อการจับจ่าย และความต้องการนำเข้าสินค้าหดตัวอย่างสูง ขณะที่ส่งออกมีการเติบโตลดลงจากการอ่อนแอของเศรษฐกิจคู่ค้า ประกอบกับการใช้นโยบายจำกัดเงินทุนไหลออกเพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ไทยเริ่มกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอีกครั้ง 

 

ในเวลาต่อมา จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น คงหนีไม่พ้นรายรับจากภาคการท่องเที่ยวที่ได้กลายเป็นอีกแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจมาจวบจนปัจจุบัน โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 1.17 ล้านล้านบาทในปี 2557  เป็น 1.91 ล้านล้านบาทในปี 2562 โดยขยายตัวปีละ  10.3% เมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันที่ขยายตัวเฉลี่ยเพียง 1.6% ทำให้ดุลบริการเพิ่มมากขึ้น และมีส่วนให้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องเฉลี่ยราว 5% ต่อจีดีพี

 

แต่กระนั้น ผลพวงจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันหลายปี ประกอบกับนักลงทุนไทยนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศค่อนข้างจำกัดและส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยตรง ทำให้กลไกการลดแรงกดดันด้านค่าเงินผ่านสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายทำได้น้อย ส่งผลให้ไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าขึ้นในระยะหลัง

 

สำหรับปี 2565 นี้  แม้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ดูเหมือนจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และเริ่มเห็นการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจบ้างแล้วในหลายภาคส่วน แต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่กลับมาปะทุและยืดเยื้อตั้งแต่ช่วงต้นปี และนำมาสู่วิกฤตพลังงาน จนลามเป็นแรงฉุดเศรษฐกิจไปทั่วโลก จึงเป็นไปได้ว่า ไทยน่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ซึ่งในปี 2564 ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 2.2% และปี 2565 ปีนี้ราว1-2%  ต่อจีดีพี โดยมีสาเหตุจาก 2 ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่

  • ดุลการค้ามีแนวโน้มเกินดุลลดลง จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 8 ปี สวนทางกับมูลค่าการส่งออกที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าจากการกลับทิศไปสู่นโยบายทางการเงินแบบตึงตัวอย่างรวดเร็ว 
  • ดุลบริการติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่เริ่มสถานการณ์โควิด-19  แม้ไทยจะเปิดประเทศแล้วอย่างเป็นทางการ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาไม่ถึง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์ปกติในปี 2562 ส่งผลให้บริการรับที่มาจากรายได้นักท่องเที่ยวยังค่อนข้างต่ำ ขณะที่บริการจ่ายยังคงสูงต่อเนื่องจากค่าระวางเรือที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ดุลบริการทั้งปีมีทิศทางขาดดุลต่อเนื่องติดต่อกัน 

 

โดยสรุปแล้ว แม้ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นเพียงการวัดการไหลเข้า-ออกเงินจากต่างประเทศ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง และไม่อาจสรุปได้ว่าเศรษฐกิจดีหรือแย่ แต่ในเบื้องต้นก็แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ไม่น้อย ซึ่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปัจจุบันก็บ่งชี้ถึงการถือสินทรัพย์ต่างชาติลดลง รวมถึงรายได้ของประเทศน้อยกว่ารายจ่ายในประเทศ

 

ท่ามกลางบริบทของเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำยาวนานและฟื้นตัวได้ช้า ปัญหาหนี้ครัวเรือนระดับสูงเรื้อรัง และปัจจัยเชิงโครงสร้างอื่นๆ เหล่านี้เป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องกลับมาครุ่นคิดว่า ไทยจะกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงเช่นในอดีตหรือไม่? และเศรษฐกิจไทยยังน่าสนใจที่จะดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติในระยะข้างหน้าได้มากน้อยเพียงใด?