เปิดโผ 4 กลุ่มหุ้นเด่น ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยชะลอเร่งขึ้น

22 ม.ค. 2566 | 23:39 น.

ASPS คาดประชุม 25 ม.ค.นี้ 'กนง.'คงดอกเบี้ยที่ 1.25% เปิดโผ 4 กลุ่มหุ้นเด่น เช่าซื้อ-แบงก์เล็ก-อสังหา-หุ้นปันผลสูง ด้านหุ้นรับผลกระทบกลุ่มแบงก์ใหญ่ และประกัน

 

ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซียพลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยที่พุ่งสูงในช่วงปีที่ผ่านมา +6.08% YoY ทำให้ กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ย ไปแล้วกว่า 3 ครั้ง ขณะที่การดำเนินนโยบายทางการเงินของไทยในปีนี้ ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่า การประชุม กนง. ในช่วงไตรมาส1/66 ( ประชุมครั้งแรกของปี : 25 ม.ค. 66) น่าจะเห็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ตามเดิม และเริ่มขยับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง จาก 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้

 

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ค่อนข้างสูง ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.82% โดยนับตั้งแต่ กนง. เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 65 พบว่า ธนาคารพาณิชย์ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ตามขึ้นมาแล้วเฉลี่ย 0.42% และล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นจากการที่ธนาคารฯ ต้องนำส่งเงิน เข้า FIDF ในอัตราเดิมอีก 0.40% เมื่อต้นปี 2566 ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถือว่าสูง จะยิ่งเพิ่มภาระต้นทุนทางการเงินมากขึ้น
  • เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว จากจุดสูงสุด 38.47 บาท/ดอลลาร์ (วันที่ 20 ต.ค. 65) และล่าสุดอยู่ที่ 32.86 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่ามาแล้วกว่า 17.07% ภายใน ระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือน
  • การขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วเกินไปอาจลดทอนศักยภาพของเศรษฐกิจไทย มีผลต่อการรัดเข็มขัดในการใช้จ่าย/บริโภคของประชาชน รวมถึงการลงทุน อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมี Downside จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวการดำเนินโยบายการทางเงินของไทยมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับหลายประเทศในเอเชียอาทิ ญี่ปุ่น (คงอะดอกเบี้ยที่ -0.1%), มาเลเซีย (คงดอกเบี้ยที่ 2.75% เป็นเดือนแรก) 

 

ส่วนหุ้นที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสชะลอการเร่งตัวขึ้น หรือ
อัตราดอกเบี้ยเริ่มเข้าสู่ขาลง มีอยู่ 4 กลุ่มหลักๆ ดังนี้

• กลุ่มเช่าซื้อ :  THANI, MTC, TIDLOR, SAWAD, ฯลฯ
• กลุ่มธนาคารขนาดกลาง-เล็ก :  KKP, TISCO
• กลุ่มอสังหาฯ : SPALI, LH, AP, QH, ORI , ฯลฯ
• กลุ่มหุ้นปันผลสูง : NER, ADVANC , DTAC, MCS, SAT, ฯลฯ

 

ส่วนหุ้นได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และกลุ่มประกัน
 

 

 

สรุป  :  การดำเนินนโยบายทางการเงินของไทยมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น หลัง กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 3 ครั้งในปีที่ผ่านมา ขณะที่การดำเนินนโยบายทางการเงินของไทยในช่วงต้นปี 66 ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ตามเดิม จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ M rate ค่อนข้างสูง เงินบาทแข็งค่าอย่าง รวดเร็ว รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วเกินไปอาจลดทอนศักยภาพของเศรษฐกิจไทย