กองสลากพลัส ค้างภาษี 300 ล้าน "สรรพากร" นัดเคลียร์ปลายม.ค.

06 ม.ค. 2566 | 01:11 น.

คลังเผย ”กองสลากพลัส” ค้างชำระภาษีสรรพากรตั้งแต่ปี 64 กว่า 300 ล้านบาท นัดเคลียร์ปลายเดือนม.ค.นี้ ฝั่งสนง.สลากฯ แลกเปลี่ยนข้อมูล 5 หน่วยงาน เอาผิดเข้าข่ายฟอกเงิน-เลี่ยงภาษี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้เข้าดำเนินการตรวจสอบการชำระภาษีของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ขายสลากดิจิทัลต่างๆ พบว่า มีบางรายที่ยังชำระภาษีไม่ถูกต้อง อาทิ กองสลากพลัส ที่ค้างจ่ายภาษีกว่า 300 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า กองสลากพลัส มีการชำระภาษีไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ปี 2564 โดยมีภาระภาษีต่อปีอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท แต่กรมฯ ได้รับชำระเพียง 190 ล้านบาท ซึ่งกรมฯ ก็ได้เรียกให้ผู้รับผิดชอบเข้ามาเสียภาษีเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่ทางกองสลากพลัสได้ทำการผัดผ่อนมาตลอด โดยได้นัดอีกครั้งในช่วงปลายเดือนม.ค.นี้

 

“กรมสรรพากรได้เข้าไปตรวจสอบแพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์ต่างๆ ว่าเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ โดยในส่วนของกองสลากพลัสนั้น พบว่า มีการเสียภาษีไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ปี 64-65 ซึ่งเขาก็ได้มาเคลียร์ภาษีแล้วบางส่วน แต่ก็ยังไม่ครบ ล่าสุด กรมฯ นัดให้มาเสียภาษีในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ได้รับการผัดผ่อน จึงได้นัดใหม่ในช่วงปลายเดือนนี้”

 

ขณะเดียวกัน ตอนนี้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะหลายหน่วยงานเพื่อร่วมตรวจสอบถึงความผิดของกองสลากพลัสในด้านต่างๆ อาทิ แหล่งที่มาของเงินในการทำธุรกิจ การขายสลากเกินราคา การละเมิดลิขสิทธิ์ และการชำระภาษี เป็นต้น โดยวันที่ 5 ม.ค.66 มีการนัดหารือร่วมกันครั้งแรกของหลายหน่วยงาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกระหว่างกัน 

 

อย่างไรก็ดี ภายหลังการประชุมทางสำนักงานสลากได้แจ้งว่า ทางสำนักงานสลากจะยังไม่มีการแถลงข่าวและยังไม่มีการให้สัมภาษณ์ใดๆ

 

สำหรับหน่วยงานที่มีกฎหมายเฉพาะประกอบด้วย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา กองบัญชาการสอบสวนกลาง สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมสรรพากร

 

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อหน่วยงานต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนและรับทราบข้อมูลของกองสลากพลัสเพื่อเชื่อมโยงความผิดเข้ากับกฎหมายของตัวเองแล้ว แต่ละหน่วยงานก็จะไปดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนของกฎหมายตนเอง 

 

ทั้งนี้ ในส่วนของดีเอสไอ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลหลักในเรื่องของแหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ขณะนี้ ก็ได้เดินหน้าในการสอบสวนแล้ว และจะเชื่อมโยงกับป.ป.ง.ว่า แหล่งเงินดังกล่าวเป็นการฟอกเงินหรือไม่

 

ในส่วนของกรมสรรพากรนั้น ก็จะเดินหน้าในการตรวจสอบภาษี เพื่อให้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้องต่อไป ส่วนหน่วยงานด้านลิขสิทธิ์นั้น จะเข้าไปตรวจสอบว่า การขายสลากดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของกองสลากพลัสนั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของสำนักงานสลากฯหรือไม่

 

ทั้งนี้ สำนักงานสลาก คือ ผู้ผลิตสลากกินแบ่งรัฐบาลเพียงรายเดียว หากมีผู้ประกอบการรายใดนำสลากไปขายผ่านแพลทฟอร์มในลักษณะที่เกินราคา หรือ ปรับเปลี่ยนหน้าตาของสลากเพื่อปกปิดผู้ค้าสลากรายที่มีสิทธิ์เดิมกับสำนักงานสลาก จะถือเข้าข่ายความผิด โดยกรณีที่ขายเกินราคาก็จะเข้าข่ายผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กรณีเปลี่ยนแปลงรูปแบบสลากจะเข้าข่ายผิดกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น

 

"ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตรวจสอบกองสลากพลัสนั้น จะต้องเร่งดำเนินการ เพราะถือเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสการทำธุรกิจของกองสลากพลัสโดยเร็วที่สุด"