TTA โดนลูกหลง... ปม “Zipmex”

25 ต.ค. 2565 | 21:00 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

*** ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/65 ของธนาคารใหญ่อย่าง KBANK BBL SCB KTB และ TTB ไม่ผิดไปจากที่คาดการณ์เอาไว้ โดยเฉพาะทางด้านของ KTB กลายเป็นหุ้นธนาคารที่โดดเด่นที่สุดเนื่องจากมีแอป “เป๋าตัง” ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการผ่านเงินจากภาครัฐผ่านโครงการ “คนละครึ่ง” ลงไปสู่ประชาชนจนทำให้ KTB ได้สิทธิ์ในการเก็บค่าต๋งกินเปล่ารวมไปถึงการเป็นตัวแทนขาย “ล็อตเตอรี่ออนไลน์” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในโครงการของรัฐบาลที่ปั๊มเงินจนสามารถผลักดันให้ KTB มีกำไรที่โตขึ้นอย่างโดดเด่น 
 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารใหญ่รายอื่นไม่ว่าจะเป็น KBANK BBL SCB และ TTB ต่างก็ดูดีเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ กนง. ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจนเป็นเหตุให้ธนาคารเหล่านี้ ได้โอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยตามไปด้วย ประเมินกันว่าในทุก 0.25% ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้กำไรของ BBL และ KTB เปลี่ยนแปลงราว 10% ขณะที่ KBANK และ SCB อาจปรับขึ้นประมาณ 7%-8% เลยทีเดียว ซึ่งก็หมายความว่า เราจะเริ่มเห็นกำไรของธนาคารเหล่านี้ได้ชัดเจนนับจากไตรมาส 4/65 เป็นต้นไปนั่นเอง

ดังนั้น หากบอกว่า หุ้นธนาคารใหญ่เหล่านี้ยังน่าสนใจก็ไม่น่าจะผิด...เพียงแต่อาจจะต้องหาจังหวะดีๆ เพื่อเก็บของตอนย่อให้ได้ก็เท่านั้นเอง  
 

*** การที่ราคาหุ้นของ SABUY ร่ำๆ ว่าจะหลุดแนวรับที่ 10.00 บาท น่าจะมีอยู่หลายสาเหตุ อย่างหนึ่งคือ ผลการดำเนินงานที่อยู่ดีๆ กำไรโตพรวดพลาดขึ้นมาแบบในไตรมาส 2/65 น่าจะไม่มีให้เห็นได้อีกในไตรมาสนี้ เนื่องจากกำไรที่ว่าเป็นกำไรพิเศษชนิดที่นานๆ ครั้งถึงจะมีมาให้ได้เห็น 

อย่างที่สองคือ เรื่องของการทำดีลกับหลายบริษัทแบบที่เจ๊เมาธ์เคยพูดถึงบ่อยๆ แม้ว่าจะมีหลายดีลที่มีการแถลงข่าวไปแล้ว อาจจะไม่ได้ทำต่อเพราะไม่คุ้มที่จะ...หรือแม้กระทั้งบางส่วนก็อาจจะลืมว่าได้ตกลงกันว่า จะทำดีลไปเลยเพราะมีเยอะจัด แต่ก็ยังมีอยู่อีกบางส่วนที่น่าจะเกิดขึ้นจริงและยังไปต่อได้ เพียงแต่ดีลที่ว่านี้อาจจะเก็บเกี่ยวรายได้ หรือ ผลประโยชน์เข้ามาไม่ทันในไตรมาสนี้ ทำให้เจ๊เมาธ์มองว่าราคาเป้าหมาย 50 บาท แบบที่โบรกฯ ใหญ่บางแห่งเคยให้ไว้คงจะเป็นเรื่องยาก
    

อย่างไรก็ตาม...ถ้าสนใจจริงๆ ก็แนะนำว่าต้องเล่นรอบสั้นเป็นหลัก ส่วนถ้าจะตัดสินใจอย่างอื่น ก็ควรจะต้องรอให้ผลงานไตรมาส 3/65 ออกมาก่อน...น่าจะดีกว่าเจ้าค่ะ 


*** กรณี บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) (Zipmex) ประกาศระงับการถอนเงินบาทและคริปโทฯ ชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2565 จนสร้างความเสียหายแก่นักลงทุนจำนวนมากยังเป็นเรื่องคาราคาซัง และนี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้นของ TTA ถอยหลังลงมาตลอด ทั้งๆ ที่ในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ถือว่า เป็นปีทองของธุรกิจเรือขนส่งสินค้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริหารของ TTA อย่าง “เฉลิมชัย มหากิจศิริ” เป็นถือหุ้นบุริมสิทธิ์ใน Zipmex Asia Pte. Ltd ในสัดส่วน 35,264 หุ้น 
 

ขณะที่ บริษัท วี เวนเจอร์ส เทคโนโลจีส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท ในเครือ บมจ. โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) ถือหุ้นจำนวน 70,529 หุ้น โดยที่ Zipmex Asia Pte. Ltd เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย) ในสัดส่วน 93.23% 
 

ดังนั้น หาก Zipmex ไม่สามารถกู้คืนความเชื่อมั่น โดยการจ่ายเงินคืนให้กับลูกค้า ก็น่าจะเป็นการยากที่จะเห็นเงินลงทุนที่ “วี เวนเจอร์ส” ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ TTA กลับคืนมาได้ นี่ยังไม่นับรวมไปถึงความเชื่อมั่นในตลาดคริปโทฯ และความเชื่อมั่นใน Zipmex ที่หายไป ทำให้มีลูกค้าปิดบัญชีเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้อนาคตของ Zipmex ดูไม่ดีเท่าที่ควร 
 

ก็อย่างว่า...เมื่อลูกค้าขาดความเชื่อมั่น ประกอบกับเป็นจังหวะตลาดคริปโทฯ กลายเป็นขาลงเช่นนี้ ทำให้ใครก็ตามที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ต่างก็ได้รับผลกระทบตามมาด้วยเท่านั่นเอง
 

*** น่าสังเกตว่า A5 กำลังปรับฐานราคาขึ้นไปตั้งหลักโดยมีราคา 3.00 บาท เป็นเป้าหมายแรก ส่วนเป้าใหญ่จะเป็นที่ราคาเท่าไหร่ก็ยังไม่มีใครรู้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการเปลี่ยนตัวผู้ถือใหญ่หุ้นที่วนเวียนไปมาตั้งแต่ “เกรียงไกร ศิระวณิชการ” มาเป็น “ทวีรัช ปรุงพัฒนสกุล” 
 

แต่ไม่ว่าใครจะมาหรือไป แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ A5 ก็ยังคงเป็นกลุ่ม “กลุ่มปัญจทรัพย์” ที่มีทั้ง “ศุภโชค ปัญจทรัพย์” และ “ไกวซัน ปัญจทรัพย์” ซึ่งถือหุ้นรวมกันแล้วเกือบๆ 50% ของปริมาณหุ้นทั้งหมด อย่างไม่เปลี่ยนแปลง  ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ผู้มีอำนาจแท้จริงในการควบคุมทั้งทิศทางธุรกิจและทิศทางของการทำราคาตัวจริงคือ “กลุ่มปัญจทรัพย์” นั่นเอง 
 

ส่วนทาง “เกรียงไกร ศิระวณิชการ” และ “ทวีรัช ปรุงพัฒนสกุล” ต่างก็เป็นแค่เป้าหลอกที่มีชื่อโชว์ แต่ไม่รู้ว่าเป็นคนทำราคาด้วยหรือเปล่า เพราะตราบใดที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ตัวจริงยังไม่ออกหน้า ก็เป็นไปได้ว่าทั้ง เกรียงไกร และ ทวีรัช อาจจะเป็นได้แค่ “นอมินี” เท่านั้น...ใครจะรู้! 


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,830 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2565