กระจายความเสี่ยงในธุรกิจใหม่แบบ "หมู Ookbee - เอ iFCG"

21 ต.ค. 2565 | 01:15 น.

เปิดมุมคิด ลงทุนยังไงให้เจ็บตัวน้อย "หมู - Ookbee" ระบุการลงทุนมีความเสี่ยง เผยทริคส่วนตัวเลือกลงทุนในธุรกิจที่คิดว่า ถ้าตัวเองลงทุนทำเองแล้วไม่ชนะ ก็เลือกลงทุนสตาร์ทอัพนั้น ด้าน "เอ - iFCG" เสริม การลงทุนต้องลองผิดลองถูก ไม่มีอะไรตายตัว

นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ หรือ หมู-OokBee ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม Six Network ผู้ก่อตั้ง Ookbee และผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks และนายวิทูร เลิศพนมวรรณ หรือ "เอ- iFCG" ซีอีโอกลุ่ม iFCG นักธุรกิจหนุ่มไฟแรง ประธานบริหาร บริษัท IFCG มีอาชีพเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินที่ดูแลชีวิตทางการเงินทุกด้านให้กับลูกค้า ได้กล่าววในงาน อบรมหลักสูตร Wealth of Wisdom : WOW ของ ฐานเศรษฐกิจ และกรุงเทพธุรกิจ ในหัวข้อ Diversify กระจายความเสี่ยงในธุรกิจใหม่ 

 

เมื่อถามถึงการลงทุน จะเลือกอย่างไรว่า ธุรกิจที่เราลงทุนจะรอดหรือไม่รอด นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องดูก่อนคือ มีไอเดียไหม ซึ่งแต่ละคนจะมีจุดแข็งจุดอ่อนแตกต่างกันน หากลองประเมินว่า จากธุรกิจที่เขานำเสนอมา เมื่อเราลงทุนทำเอง เราสามารถชนะเขาได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ไม่ลงทุน ซึ่งที่ผ่านมา ธุรกิจที่ไม่ได้รับเลือก มองว่าทำแล้วไม่รอดแน่ ก็มี  และบางธุรกิจที่ไม่ได้ลงทุน แต่ปัจจุบัน เขาสามารถเติบโตได้ดี ก็มีเช่นกัน 

"การที่เราพลาด ดีกว่า เราไปจ้างคอนเซาท์เสียอีก เพราะทำให้เราได้บทเรียน ที่นำมาแก้ไขไม่ให้เกิดซ้ำ การผิดพลาดด้วยตัวเองทำให้ได้เรียนรู้ลงลึกไปถึงตัวเลข มีอะไรที่เป็นบทเรียนของเราได้ ต้องถือว่าความผิดพลาด คือค่าเล่าเรียน"

 

ส่วนการขยายไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ สามารถดูโมเดลที่คล้ายคลึงกันในต่างประเทศได้ แม้จะไม่เหมือนกัน 100% แต่ก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ 

"ธุรกิจใหม่ๆ ในไทย เราต้องเปิดใจ ลองลงอะไรที่แปลกๆ แล้วลองทำให้มันเกิด มันมีวิธี เช่น ไปเปิดบริษัทต่างประเทศ แล้วเอาเข้ามาในไทย ก็สามารถทำได้" นายณัฐวุฒิกล่าว 

 

ด้านนายวิทูร กล่าวว่า ทุกอย่างคือการลองผิดลองถูก นี่คือ สิ่งที่ iFCG ทำมาตลอด จากการเริ่มต้นเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ตั้งธุรกิจนี้ด้วยเงินทุน 1 ล้านบาท เข้ามาแข่งกับธนาคาร สถาบันการเงินที่มีความแข็งแกร่ง สิ่งที่ทำ คือ การมองหาช่องทางที่จะสามารถสร้างโอกาสให้ตัวเองได้ ด้วยการศึกษาหา Pain Point แล้วแก้ pain point ให้ได้ 

 

นอกจากนี้ คือการไม่จำกัดตัวเอง ถ้ามองว่าเราไปได้เราก็ไป เช่น การออกบูธสามครั้ง ก็สามารถสร้างเป็นบิซิเนสโมเดลได้จริงๆ สิ่งที่ทำมีอย่างเดียวคือ วางแผนการเงิน โดยเปิดเป็น wealth cafe ทำเป็นแบงก์ บวกกาแฟด้วย ตอนนี้มีแผนขยายไป 30 แห่ง จากการเริ่มต้นตั้งบูธที่เชียงใหม่
 

ส่วนความผิดพลาด เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ในทุกความผิดพลาด ต้องกลับมาดูที่ ความน่าเชื่อถือ และคอนเน็คชั่น เพราะ 2 สิ่งนี้สำคัญสำหรับคนทำธุรกิจ