บล.ดีบีเอสแนะเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นอาเซียน-ญี่ปุ่น

07 ต.ค. 2565 | 12:26 น.

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์สชี้ เฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปจนถึงปลายปีที่ 4.4- 4.5% ส่งผลการบริโภคทั่วโลกชะลอ เศรษฐกิจสหรัฐ-ยุโรปวูบ มองตลาดหุ้นอาเซียน-ญี่ปุ่นน่าสนใจ จีดีพีเติบโตได้ดี หุ้นไทยได้อานิสงส์ท่องเที่ยว ยืนเป้าดัชนีปีนี้ 1680 จุด ปีหน้าอยู่ที่ 1750 จุด

นายธนวัฒน์ ปัจฉิมกุล ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงใช้นโยบายเข้มงวดโดยปรับขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 4.5% ปลายปี 2022 ก่อนจะหยุดขึ้น เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจส่งผลให้การบริโภคทั่วโลกชะลอตัวลง จากผลของความเข้มงวดของนโยบายการเงินและการคลัง

 

“ผมมองว่า เศรษฐกิจประเทศใหญ่จะถูกปรับลดจีดีพี โดย DBS Bank คาดเศรษฐกิจสหรัฐปี 2023 โตเพียง 0.3% ยุโรปโต 1%  ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตเร่งตัวขึ้นในปี 2023 เป็นบวก 1.8% หนุนโดยภาคบริการ หลังเปิดรับนักท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจจีน โตดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องการจัดการโควิด ส่วนกลุ่มอาเซียน ยังขยายตัวดี โดดเด่นคือเวียดนาม”นายธนวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ ดีบีเอสเชื่อว่าถ้าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็จะเป็นแบบไม่รุนแรง (mild recession) โดยปัจจัยสนับสนุนความคิดเห็นที่สำคัญคือ ระบบเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้เปราะบางเหมือนอดีต ดูจากหนี้ครัวเรือนลดลงจากในอดีตมาก และตลาดแรงงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง อัตราว่างงานต่ำ 3.5%

 

บล.ดีบีเอสแนะเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นอาเซียน-ญี่ปุ่น

นายธนวัฒน์กล่าวว่า อัตราการขยายตัวจีดีพี มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผลตอบแทนในภาคธุรกิจ (GDP growth & corporate earnings)  สมมติฐานว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสเข้าสู่ช่วง “mild recession” และจะทำให้ผลตอบแทนของ corporate ลดลงไป 6% ก็ได้สะท้อนเข้าไปในสภาวะตลาดปัจจุบันแล้ว ในขณะที่ forward PE ที่ลดลง ได้เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน ดังนั้นจึงเริ่มเป็นจุดที่น่าสนใจในการลงทุนระยะยาว

 

โดยมองหุ้นกลุ่ม Luxury brands มีความน่าสนใจ แม้ทิศทางการบริโภคจะชะลอลง แต่กลุ่ม Luxury จะได้แรงหนุนจากความมั่งคั่ง ( wealth)  ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในลูกค้ากลุ่มใหม่ๆเช่นกลุ่ม millennial และกลุ่มชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น เช่นในจีน รวมทั้งสามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังลูกค้าได้

 

ขณะที่ ธุรกิจเฮลท์แคร์ ชอบกลุ่ม Medical devices ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูง จากนวัตกรรมใหม่ๆและ ageing population กลุ่ม Healthcare มีลักษณะเป็น “defensive growth” คือเป็นทั้ง defensive และยังมี growth ในระยะยาว กลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ (medical devices) มีแนวโน้มขยายตัวสูง จากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆและการขยายจำนวนเตียงในเอเชียเช่นจีน

 

“การลงทุนในหุ้น คงต้องรอจังหวะผลตอบแทนพันธบัตร ถึงจุดพีค (เมื่อ Fed ส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ย) ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่ม growth โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี โดยดีบีเอส แนะเพิ่มน้ำหนัก หุ้นในตลาดอาเซียน  และ ญี่ปุ่น แต่ยังคงปรับลดน้ำหนัก  หุ้นยุโรป”นายธนวัฒน์กล่าว

 

ส่วนตลาดตราสารหนี้ มองอัตราผลตอบแทน (yield ) ทั่วโลกที่ปรับสูงขึ้น ตราสารหนี้ระดับลงทุนในตลาดพัฒนาแล้วมีความน่าสนใจ นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง อาจเลือกตราสารหนี้กลุ่ม high yield ในตลาดพัฒนาแล้วเข้าพอร์ตบางส่วนเพื่อดึง yield พอร์ตขึ้น

 

อย่างไรก็ตามยังต้องระหวังความเสี่ยง จากความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน, การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล, การเมืองระหว่างประเทศ, เทคโนโลยี, สภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม, การลงทุนในอุตสาหกรรมเฉพาะมีความเสี่ยงสูงกว่าตลาดโดยรวม

 

นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า  ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้น Q4/2022   ได้รับปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีเกินคาด โดยประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยปีนี้มีโอกาสทะลุ 10 ล้านคน 

 

รวมทั้งจะมีเม็ดเงินลงทุนบางส่วนไหลจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป  เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ ที่มีฐานะการคลังที่แข็งแรงและเศรษฐกิจฟื้นตัวดี ซึ่งไทยน่าจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการลงทุน ถ้าไม่มีปัญหาการเมืองรุนแรง โดยบริษัทตั้งเป้าหมายดัชนีปีนี้ไว้ที่ระดับ 1680 จุด และเป้าหมายดัชนีปีหน้าที่ระดับ 1750-1800 จุด

 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนก็คือ  ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปในช่วงครึ่งหลังปี 2022  และปี 2023 ที่มีความเสี่ยงชะลอตัว ไปจนถึงการถดถอย  นอกจากยังได้รับผลกระทบจากราคาพลังงาน ธัญพืช และอาหาร ที่มีโอกาสพุ่งขึ้นรอบใหม่ จากปัจจัยฤดูหนาวและผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ส่งผลให้วิตกเงินเฟ้อสูงอีกรอบ

 

ขณะเดียวกันดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างเร่งตัวในช่วงที่เศรษฐกิจเปราะบาง  ทำให้มีความเสี่ยง NPL สูงขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับตัวสูงสุด ในช่วง 3Q/22 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานจะสูงสุดใน 4Q/22

 

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย นางสาวอาภาภรณ์ กล่าวว่า ภาคการส่งออกช่วง 8 เดือนของปี 2022 เติบโต11 %  ขณะที่ขาดดุลการค้าสูงถึง 1.4  หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ  เฉพาะเดือนสิงหาคม 2022 ขาดดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  เป็นผลมาจากการนำเข้าสินค้าพลังงานที่มีราคาสูง ซึ่งแม้ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะฟื้นตัวแต่อาจไม่สามารถชดเชยการขาดดุลการค้าในปีนี้

 

ขณะเดียวกันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ทั่วถึง (เป็น K Curve)  สำหรับการเมืองไทย การชุมนุมประท้วงเริ่มกลับมาหลังโควิดคลี่คลาย แต่ถ้าไม่มีปะทะรุนแรง ก็จะกระทบไม่มาก และในอีกแง่หนึ่ง การลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งรอบใหม่ ทำให้เม็ดเงินสะพัดดีขึ้น ในเชิงกลยุทธ์การลงทุน แนะนำเลือกและทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว ในจังหวะราคาหุ้นอ่อนตัว (เมื่อคาดการณ์ลมพายุไม่ได้อย่างแน่นอน ก็ต้องสร้างเรือที่แข็งแกร่งไว้รองรับ)

 

นายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง ภาพรวมของอุตสาหกรรมและหลักทรัพย์ที่แข็งแกร่งสามารถฝ่าด่านดอกเบี้ยสูง ในภาวะเศรษฐกิจชะลอได้  ที่โดดเด่นคือ

 

  • อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวคาดในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้า 10-11 ล้านคน และปี 66 จำนวน 16 ล้านคน  หุ้นที่ได้ผลบวกและเป็นหุ้นเด่นของเรา คือ CENTEL ราคาเป้าหมาย 55 บาท  เพราะธุรกิจโรงแรมและอาหารฟื้นตัวสดใส 

 

  • อุตสาหกรรมส่งออก เป็นแรงหนุนที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย  สินค้าส่งออกที่โตต่อเนื่อง คือ อาหาร, เกษตรอุตสาหกรรม, สินค้าอุตสาหกรรม  โดยมีปัจจัยหนุน จากเงินบาทอ่อนค่า,ค่าขนส่งทางเรือลดลง  หุ้นที่น่าสนใจคือ TU มองราคาเป้าหมายเหมาะสมที่  22.60  บาท เรามองแนวโน้มกำไรจะดีกว่าคาดการณ์ไว้ รวมทั้งยังได้รับประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า  ยอดขายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  มีการปรับประมาณการปีนี้เพิ่ม 17% และปี 66 เพิ่ม 3%

 

  • อุตสาหกรรมสื่อสาร   จากกระแสการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) เป็นการโตทางลัดผสานเทคโนโลยีและประหยัดต้นทุน ในส่วนของกระแส “Digital Transformation” ก็ทำให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจบรอดแบนด์มีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก  โดยหุ้น ADVANC  โดดเด่น การลงทุนใน TTTBB และ JASIF ถือเป็นก้าวสำคัญในธุรกิจบอร์ดแบนด์หรือเน็ตบ้าน จะได้ลูกค้าเพิ่มอีกถึง 2.5 ล้านราย ในอนาคตสามารถระดมทุนผ่าน JASIF  และยังได้แบรนด์ 3BB ที่แข็งแกร่งเพิ่ม รวมถึงได้ทีมขายและทีมติดตั้ง FBB มีความเชี่ยวชาญ และเข้าถึงโครงข่ายบอร์ดแบรนด์ที่ครอบคลุมมากขึ้น ราคาเป้าหมาย 250 บาท

 

  • อุตสาหกรรมการแพทย์  มีแนวโน้มดีจากคนไข้ต่างชาติเพิ่มขึ้น หลังโรคโควิดคลี่คลาย ซึ่ง BDMS  เป็นหุ้นเด่นที่ได้ปัจจัยบวกจากคนไข้ต่างประเทศ ราคาเป้าหมาย 33 บาท

 

  • อุตสาหกรรมนิคมอุตสาหกรรม มีฟื้นตัวดีตามการเปิดเมืองช่วง 8 แรกของปีนี้ นักลงทุนหลักมาจาก ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, USA  และยังมีรายได้ค่าเช่า-บริการ และสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำอุตสาหกรรม และค่าไฟฟ้าช่วยลดความเสี่ยงธุรกิจ  การลงทุนในโลกอนาคต นิคมฯจะมีบทบาทสำคัญ เช่น รถยนต์ EV, E-Commerce, Digital Platform, ROBOT  ขณะที่รัฐบาลเร่งส่งเสริมการลงทุน เช่น เขต EEC จะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว,มูลค่าที่ดินเพิ่ม... มองว่าหุ้น WHA โดดเด่น

 

  • อุตสาหกรรมขนส่ง   กลับมาปกติ ส่งผลดีต่อธุรกิจสายการบิน สนามบิน รถไฟฟ้า รถยนต์เช่า ทางด่วน และมอเตอร์เวย์ ฟื้นตัว  แต่เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ เรือเทกอง เกี่ยวกับการส่งออก ค่าระวางเรือกลับอ่อนลง เพราะสู่ภาวะการค้าปกติ มีการเดินหน้าโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ประมูลรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าไทย-จีน ก็จะมีผลดีในระยะยาว  โครงการขนาดใหญ่จะเปิดให้บริการปีหน้า เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู เหลือง และมีความคืบหน้าโครงการสนามบินต่างๆ  แนะนำลงทุนหุ้น BEM  ราคาเป้าหมาย 10.40 บาท

 

  • อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง  คาดจะมีการประมูลงานขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น Backlog จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หุ้นในกลุ่มแนะนำ  CK  ราคาเป้าหมาย 25 บาท

 

นายสมนึก จันทร์รัสมี ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่าทิศทางหลักของตลาดฯในไตรมาส 4/2565 ยังคงผันผวน และอ่อนตัวลงเป็นหลัก (การปรับขึ้น ก็อาจมีได้ แต่จะเป็นไปในลักษณะของการรีบาวด์ฯทางเทคนิคเท่านั้น จากนั้นก็จะเป็นการอ่อนตัวลงต่อ) โดยคาดการณ์ว่าดัชนีน่าจะมีการปรับลงเพื่อทดสอบแนวรับ(ย่อย) ที่ระดับ 1520 – 1500 หรือ 1450 (1400) จุด แล้วจึงจะเปลี่ยนทิศทาง (หรือรีบาวด์ฯ) อีกครั้งตามมา

 

นายพงศ์ภัทร สิริพิพัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดัชนี SET50 จะมีการรีบาวด์ โดยระวังแนวต้าน 963/973-970/980 หากยังไม่ผ่านระวังการลงรอบใหม่ การลงหลุด 930 จะเป็นสัญญาณลงต่อมีแนวรับถัดไป 900/875

 

ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 2 ปี ปรับขึ้นสู่ระดับพีคเข้าใกล้ช่วง DotPlot ของเฟดที่ 4.4%-4.6% บ่งชี้ว่าตลาดรับรู้เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยไประดับหนึ่ง ทำให้ Yield ลดลง หุ้นเด้งสั้นได้เป็นระยะๆ แต่ตลาดหุ้นที่จะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นจะใช้เวลามากกว่า 6 เดือนจึงจะเห็นผลกระทบ การลงทุนในหุ้น ระยะกลางยังต้องระมัดระวัง

 

สำหรับทิศทางทองคำ มีแนวโน้ม กลับมาทะลุ 1680/1700 แนวต้านที่แข็งแกร่งได้ มีแรงส่งต่อ แต่ช่วงสั้นก็จะมีแนวต้านที่ 1735/1750 และ 1800 ที่ทำให้ชะลอตัวลง หากยังเป็นบวกต้องไม่กลับไปหลุดต่ำกว่า 1680 อีกมิฉะนั้นมีโอกาสทำจุดต่ำสุดใหม่ ค่าเงินบาท หากการพักฐานต้องไม่หลุด 37+/-0.2 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จึงจะขึ้นรอบใหม่ และแนวต้านถัดไป 39.5/40 หากหลุดต่ำกว่าเปลี่ยนแนวโน้มเป็นแข็งค่า