เปิดยอดหนี้กองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงิน พบคงค้างอ่วม 6.7 แสนล้าน

05 ต.ค. 2565 | 22:35 น.

เปิดยอดหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พบยอดคงค้างกว่า 6.7 แสนล้านบาท ล่าสุด ครม. ไฟเขียว ให้โอนเงินของกองทุนฯ เข้าบัญชีสะสมเพื่อจ่ายหนี้ต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุน ปีงบประมาณ 2566 กว่า 2,000 ล้านบาท

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด มีมติอนุมัติเรื่องสำคัญ คือการให้โอนเงินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เข้าบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 2,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ

 

โดยให้กองทุนฯ ทยอยโอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีสะสมฯ ตามปริมาณสภาพคล่องของกองทุนฯ เนื่องจากจำนวนเงินดังกล่าวมีความเหมาะสมกับประมาณการกระแสเงินรับ – จ่ายของกองทุนฯ ซึ่งจะทำให้กองทุนฯ มีเงินสดคงเหลือเพียงพอสำรองเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงานและภาระชดเชยที่ต้องดำเนินการ 

 

อย่างไรก็ดี หากกองทุนฯ ได้รับเงินที่มีนัยสำคัญให้พิจารณาทบทวนเพื่อขออนุมัตินำส่งเงินเข้าบัญชีสะสมฯ เพิ่มเติมต่อไป 

ทั้งนี้กระทรวงการคลัง รายงานว่า กองทุนฯ ได้ทบทวนประมาณการกระแสเงินรับ – จ่ายของกองทุนฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แล้วเห็นว่ากองทุนฯ จะมีสภาพคล่องคงเหลือภายหลังสำรองค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องที่สามารถชำระหนี้ FIDF1 และ FIDF 3 ได้จำนวน 2,000 ล้านบาท 

 

คณะกรรมการจัดการกองทุนในการประชุมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 จึงเห็นควรให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้กองทุนฯ นำส่งเงินดังกล่าวเพื่อชำระคืนเงินต้นเงินกู้และดอกเบี้ย FIDF1 และ FIDF 3 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยทยอยโอนเงินเข้าบัญชีสะสมฯ ตามปริมาณสภาพคล่องของกองทุนฯ 

 

สำหรับ สถานะของกองทุนฯ จากข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565 ยอดหนี้ต้นเงินกู้ FIDF1 และ FIDF 3 สรุปได้ ดังนี้

  • ยอดรวมต้นเงินกู้ที่รับมาดำเนินการตามพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 จำนวน 1,138,305.89 ล้านบาท
  • ยอดชำระหนี้สะสมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 – สิงหาคม 2565 (เงินต้น + ดอกเบี้ย) และค่าบริหารจัดการ จำนวน 797,079.12 ล้านบาท
  • ยอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 จำนวน 672,613.50 ล้านบาท (รวมการลดภาระหนี้จากบัญชี Premium FIDF จำนวน 14,347 ล้านบาท)

สถานะของกองทุนฯ จากข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565

 

สำหรับกองทุนดังกล่าว จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในธนาคารแห่งประเทศไทย เรียกว่า "กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน" ให้กองทุนมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ

 

โดยมี "ฝ่ายจัดการกองทุน" เป็นเจ้าหน้าที่ และให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่น มีหน้าที่โดยสรุปดังนี้

 

1. การแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ 

  • ดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 43/1 - 43/9

 

2. การบริหารหนี้ FIDF 1 และ FIDF 3* 

  • ดำเนินการเกี่ยวกับการชำระคืนต้นเงินกู้และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือจัดการและฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาวิกฤติทางการเงินเมื่อปี 2540 ตามพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555

 

3.  การบริหารสินทรัพย์

 

บริหารจัดการสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นจากการให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินในอดีต เช่น

  • หุ้น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด และหุ้นอื่น ๆ
  • ลูกหนี้ที่เกิดจากวิกฤติสถาบันการเงินปี 2540 และตามมาตรา 14 สิงหาคม 2541
  • ทรัพย์สินอื่น อาทิ เงินลงทุนระยะสั้น อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น  ทั้งนี้ การบริหารจัดการดังกล่าวรวมถึงการเรียกเก็บหนี้ นอกเหนือจากการนำมาเพื่อลดความเสียหายจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลช่วงวิกฤติสถาบันการเงินแล้ว ยังเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ F1 และ F3 ตามพันธกิจที่รัฐบาลมอบหมายด้วย

 

*พระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 (FIDF1) 

 

พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF3)