ตามคาด “BEM” ผ่านฉลุย คว้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

09 ก.ย. 2565 | 05:48 น.

“รฟม.” เดินหน้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบ 2 วงเงิน 1.4 แสนล้าน เปิดคะแนนผลตอบแทน BEM ยื่นข้อเสนอ 7.8 หมื่นล้าน ทิ้งห่าง ITD จ่อลงนามสัญญาร่วมทุน เริ่มก่อสร้างปีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท หลังประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน แต่ระหว่างที่อยู่ในกระบวนการประมูลนั้น รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 กลับปรับเกณฑ์เงื่อนไขการประมูลและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ที่ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมกันแล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากแนวเส้นทางผ่านสถานที่สำคัญและอ่อนไหวหลายแห่ง เช่น รัฐสภาแห่งใหม่ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย วัดต่างๆ รวมถึงพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคทางวิศวกรรมในการออกแบบและก่อสร้างขั้นสูงจากผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์และมีสมรรถนะสูงเพียงพอเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดและสามารถดำเนินงานก่อสร้างให้สำเร็จลุล่วงเป็นไปตามแผน ส่งผลให้เอกชนบางรายมองว่าการประมูลไม่โปร่งใส จนเกิดการฟ้องร้องต่อศาลจนถึงปัจจุบัน

 

 

 ขณะเดียวกันบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลเพิกถอนหรือยกเลิกประกาศเชิญชวนฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 และเอกสาร RFP รวมทั้งประกาศกับมติที่เกี่ยวข้องด้วย และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอแล้ว

 

 

 ล่าสุดรฟม.ได้ฤกษ์มีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รอบ 2 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 และได้เปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน 2565 โดยมีเอกชนผู้สนใจเข้าซื้อเอกสาร RFP ทั้งสิ้น 14 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM 2.บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC 3.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 4.บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC 5.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK 6.China Harbour Engineering Company Limited 7.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS 8.โตคิว คอนสตรัคชั่น คัมพานี ลิมิเต็ด 9.Incheon Transit Corporation 10.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ UNIQ 11.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF 12.RH International (Singapore) Corporation PTE. LTD. 13.Kumagai Gumi Co., LTd. 14.บริษัท ซีเมนต์ โมบิลิตี้ จำกัด

 

 

 ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า วันที่ 27 ก.ค. 2565 เวลา 9.00-15.00 น. ทางรฟม.ได้เปิดโอกาสให้เอกชนที่ซื้อซองประมูลสามารถยื่นข้อเสนอในวันเวลาดังกล่าว หลังจากนั้นจะเปิดซองข้อเสนอเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2565 คาดว่าจะเสนอผลการคัดเลือกให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชน ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2565

สำหรับเอกชน 4 ราย ที่ยื่นข้อเสนอเข้าร่วมการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม รอบ 2 ดังนี้

กลุ่มที่ 1 -บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM -บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK

กลุ่มที่ 2 -บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD -บริษัทขนส่งอินช็อน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้ 

 

ขณะที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กลับยื่นคำขาดไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากหลังการศึกษารายละเอียดข้อกำหนดในเอกสารประกวดราคา (RFP) ฉบับใหม่ พบว่ามีเงื่อนไขแตกต่างไปจากเดิม และเป็นเงื่อนไขที่มีข้อกำหนดคุณสมบัติแบบเลือกผู้รับเหมา รวมทั้งเงื่อนไขการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่นี้ ข้อกำหนดเงื่อนไขในสาระสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอมีเจตนากีดกันบริษัทฯ ไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่งอย่างชัดเจนที่อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542

 

 

รายงานข่าวจากรฟม. แจ้งว่า การดำเนินงานคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เบื้องต้น รฟม. คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอ พร้อมทั้งผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ได้ร่วมเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 โดยได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอซองที่ 1 และได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 แล้วเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 โดยผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 รายเป็นผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1

 

ส่วนการเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 โดยได้ตรวจสอบพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 แล้วเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 โดยผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 รายเป็นผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2

 

นอกจากนี้ในวันที่ 7 กันยายน 2565 รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน โดยมีผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมและผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 เข้าร่วม เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและร่วมเป็นสักขีพยาน 

 

สำหรับผลการยื่นข้อเสนอในเบื้องต้น ดังนี้

 

- บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) เสนอผลประโยชน์สุทธิ* (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ – 78,287.95 ล้านบาท

 

- ITD Group เสนอผลประโยชน์สุทธิ* (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ – 102,635.66 ล้านบาท

 

 

ทั้งนี้รฟม.ระบุว่า การยื่นข้อเสนอประมูลในครั้งนี้มีผลประโยชน์สุทธิ ซึ่งเป็นเงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้แก่ รฟม. หักลบด้วยจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ ผู้ยื่นข้อเสนอจะขอรับจาก รฟม. หากเอกชนรายใดที่เสนอผลประโยชน์สุทธิมีตัวเลขติดลบน้อยกว่าจะเป็นประโยชน์กับภาครัฐมากกว่า เพราะขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐน้อยกว่า

 

 

 หลังจากนี้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของข้อเสนอดังกล่าวและดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยเคร่งครัดต่อไป

 

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) เปิดให้บริการในปี 2568 และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ) เปิดให้บริการในปี 2570