กอนช. สั่ง เฝ้าระวัง ระดับน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้น รับมือ ฝนตกหนัก

22 ก.ย. 2565 | 15:34 น.

ฝนตกหนัก กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ "กอนช." สั่ง เฝ้าระวัง ระดับน้ำ "แม่น้ำเจ้าพระยา" เตือน ท้ายเขื่อน 9 จังหวัด น้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร วันที่ 25-27 ก.ย.

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 40/2565  เรื่อง  เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์จะมีฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 21 – 26 กันยายน 2565

 

บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 2,100 - 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แม่น้ำสะแกกรัง สถานี Ct.19 อัตรา 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลำน้ำสาขาอัตรา 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งรวมจำนวน 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

 

ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 2,200 – 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ 25 - 27 กันยายน 2565 โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอเสนา และผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ

 

 

 

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

 

1.ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า

 

2.เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

 

3. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบชลประทาน เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำเข้าคลองต่างๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพคลองชลประทาน ในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้         

 

 

กอนช. สั่ง เฝ้าระวัง ระดับน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้น รับมือ ฝนตกหนัก

เช่นเดียวกับ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 21 – 26 กันยายน 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั้น

 

กอนช. สั่ง เฝ้าระวัง ระดับน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้น รับมือ ฝนตกหนัก

 

สถานการณ์น้ำปัจจุบัน (22 กันยายน 2565) เวลา 18.00 น. ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 2,058 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 2.63 เมตร แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท 1,989 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน มีความจำเป็นปรับเพิ่มการระบายน้ำ จากเดิม 2,000 ลบ.ม./วินาที เป็นไม่เกิน 2,200 ลบ.ม./วินาที ในลักษณะทยอยปรับการระบายแบบขั้นบันได เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2565 อาจจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้นในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ดังนี้

 

  • คลองโผงเผง จ.อ่างทอง 

 

  • คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา 

 

  • ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)

 

  •  วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี และ อ.เมือง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

 

  •  วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง

 

 

โดยอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน โดยระดับน้ำบริเวณดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร ในช่วงวันที่ 25 – 27 กันยายน 2565 ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่ตกลงมา และควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร

 

 

พร้อมทั้งได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด และร่วมกันประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำได้ทาง www.rid.go.th https://www.facebook.com/Kromchon http://swoc.rid.go.th/ หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460