เอเปค2022 “พาณิชย์” เตรียมดันประเด็นการค้า ก่อนชงผู้นำเอเปค พ.ย.นี้

18 ก.ย. 2565 | 10:28 น.

 พาณิชย์ เตรียมเป็นเจ้าภาพร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปคกับกระทรวงการต่างประเทศ พ.ย.นี้  หารือประเด็นการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน ก่อนสรุปเสนอที่ประชุมผู้นำเอเปค

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (Committee on Trade and Investment: CTI) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค (Senior Officials’ Meeting: SOM) ครั้งที่ 3/2565 ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2565 ณ จังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกเอเปคได้หารือและรับทราบผลการดำเนินงานที่สำคัญของเอเปคในปี 2565 ไม่ว่าจะเป็น 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

โครงการของเอเปค เพื่อส่งเสริมการค้าที่ครอบคลุมและยั่งยืน เช่น การส่งเสริมธุรกิจเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอสีเขียว การศึกษามาตรการที่ใช่ภาษีกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการกำหนดราคาคาร์บอนและตลาดคาร์บอน เป็นต้น 

 

 

การแก้ปัญหาให้ธุรกิจบริการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น ท่องเที่ยว ขนส่ง และโลจิสติกส์ เป็นต้น โดยแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างภาครัฐกับเอกชนเพื่อปรับปรุงระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการจัดทำแผนการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTA-AP

เอเปค2022 “พาณิชย์” เตรียมดันประเด็นการค้า ก่อนชงผู้นำเอเปค พ.ย.นี้

 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งผลงานสำคัญดังกล่าวจะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมร่วมรัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีต่างประเทศเอเปค (APEC Ministerial Meeting: AMM) และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Week: AELW) ที่กำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้   

สำหรับการประชุมร่วมรัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีการต่างประเทศเอเปค ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 จะมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เป็นประธานร่วมกับนายดอน ปรมัตถ์วินัยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  ในการประชุม เรื่อง การค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน (Open and Sustainable Trade and Investment) ก่อนสรุปเสนอที่ประชุมผู้นำเอเปคในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565

ทั้งนี้เอเปคหรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับเอเปคมีมูลค่ารวม 12.2 ล้านล้านบาท (385 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วน71.52% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย

โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปเอเปค 6.1 ล้านล้านบาท (195 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และนำเข้าจากเอเปค 6 ล้านล้านบาท (190 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.ค. 2565 การค้าระหว่างไทยกับเอเปค มีมูลค่า 8.2 ล้านล้านบาท (244 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น11.34% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปเอเปค 4 ล้านล้านบาท (121 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และนำเข้าจากเอเปค 4.1 ล้านล้านบาท (123 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)