"รฟท." สางปัญหาที่ดินชุมชน อุ้มชาวบ้านรับผลกระทบเวนคืน

25 ส.ค. 2565 | 10:24 น.

"รฟท." ลุยแก้ปัญหาชุมชนในที่ดิน หลังพัฒนาโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ ผุดแผนเช่าบ้านพักชั่วคราวอุ้มผู้ได้รับผลกระทบเวนคืน

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การรถไฟฯ อยู่ระหว่างเร่งรัดการแก้ไขปัญหาชุมชนที่อยู่ในที่ดินของรฟท.และจัดพื้นที่รองรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการต่างๆ ของ รฟท. ทั้งในพื้นที่ส่วนภูมิภาค และพื้นที่เขตเมือง ที่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนของภาครัฐควบคู่กับการบริการจัดการนำทรัพย์สินที่ดินมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

"รฟท." สางปัญหาที่ดินชุมชน  อุ้มชาวบ้านรับผลกระทบเวนคืน

ส่วนของพื้นที่ส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย 1.การแก้ปัญหาชุมชนในที่ดินของการรถไฟฯ ในพื้นที่จังหวัดตรัง ซึ่งการรถไฟฯ ให้เช่าพื้นที่บริเวณชุมชนบ่อสีเสียด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เป็นการชั่วคราว ระยะเวลา 3 ปี ในอัตราค่าเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าว มีจำนวน 46 ครัวเรือน ประสงค์เข้าโครงการบ้านมั่นคงแล้ว 28 ครัวเรือน นอกจากนี้มีการขอเช่าของ 4 ชุมชนใหม่ ประกอบด้วย ชุมชนคลองมวล 70 ครัวเรือน ชุมชนควนดินแดง 27 ครัวเรือน ชุมชนทางล้อ 15 ครัวเรือน ชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา 70 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 182 ครัวเรือน จะมีการพิจารณาให้เช่าต่อไป

"รฟท." สางปัญหาที่ดินชุมชน  อุ้มชาวบ้านรับผลกระทบเวนคืน

 

 

2. การแก้ปัญหากรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่– สงขลา ที่จะดำเนินการในปี 2567 ปัจจุบันมีชุมชนที่ประสงค์ขอย้ายไปยังพื้นที่รองรับ (บ้านบางดาล อ.เมือง จ.สงขลา) ที่การรถไฟฯ จัดให้แล้ว จำนวน 574 ครัวเรือน ซึ่งจะดำเนินการปลูกสร้างบ้านมั่นคง ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์ชุมชน (พอช.) ต่อไป

3.การแก้ปัญหากรณีชุมชนได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง นครราชสีมา – หนองคาย พื้นที่บริเวณที่หยุดรถบ้านพะไล จังหวัดนครราชสีมา รองรับ 8 ชุมชน 166 ครัวเรือน ประกอบด้วย ชุมชนเลียบนคร 8 ครัวเรือน กลุ่มประสพสุข 25 ครัวเรือน ชุมชนข้างทางรถไฟ 31 ครัวเรือน ชุมชนหลังจวน 12 ครัวเรือน ชุมชนราชนิกูล 1 จำนวน 23 ครัวเรือน ชุมชนราชนิกูล 3 จำนวน 18 ครัวเรือน ชุมชนเบญจรงค์ 28 ครัวเรือน และชุมชนทุ่งสว่าง 21 ครัวเรือน โดยการรถไฟฯ อนุมัติการให้เช่าขนาดพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ ระยะเวลาการให้เช่า 30 ปี อัตราค่าเช่า 23 บาทต่อตารางเมตร ทั้งนี้ มีครัวเรือนได้รับผลกระทบจากโครงการฯ เป็นกรณีเร่งด่วน จำนวน 28 ครัวเรือน นอกจากนี้จะปลูกสร้างบ้านพักชั่วคราวภายในกรอบระยะเวลา 30 วัน

 

"รฟท." สางปัญหาที่ดินชุมชน  อุ้มชาวบ้านรับผลกระทบเวนคืน

ขณะที่บริเวณย่านสถานีรถไฟขอนแก่น หรือพื้นที่เช่าแปลง R5 ซึ่งมีโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ส่งผลกระทบต่อชุมชนโนนหนองวัด 2 และชุมชนเทพารักษ์ 5 พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ อยู่ระหว่างการพิจารณาให้เช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านมั่นคง ระยะเวลาการเช่า 30 ปี ส่วนบริเวณย่านสถานีสำราญ รองรับชุมชนหนองแวงตราชูใหม่ เพื่อปลูกสร้างบ้านมั่นคง พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ อยู่ระหว่างการเสนอขอเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านมั่นคง ระยะเวลาการเช่า 30 ปี

นายเอกรัช กล่าวว่า ส่วนพื้นที่เขตเมือง มีผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการของการรถไฟฯ 2 โครงการ รวมทั้งสิ้น 630 ครัวเรือน 2,075 ราย แบ่งเป็น 1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน บริเวณริมบึงมักกะสัน การรถไฟฯ จะจัดพื้นที่ขนาด 4 ไร่ 1 งาน โดยจะร่วมกับการเคหะแห่งชาติ จัดสร้างอาคารที่พักอาศัย เพื่อรองรับชุมชนบุญร่มไทร ชุมชนแดงบุหงา ชุมชนหมอเหล็ง ชุมชนหลังอาซีเอ และชุมชนหลังโรงพยาบาลเดชา รวม 999 ราย และ 2.โครงการพัฒนาย่านพหลโยธิน บริเวณนิคมรถไฟ กม.11 การรถไฟฯ จะจัดพื้นที่ขนาด 6 ไร่ 3 งาน 2 ตารางวา เพื่อรองรับชุมชนพัฒนา กม.11 ชุมชนริมคลองกม.11 และชุมชนบางซื่อกลุ่มออมทรัพย์ รวม 1,076 ราย

 

"รฟท." สางปัญหาที่ดินชุมชน  อุ้มชาวบ้านรับผลกระทบเวนคืน

 “ระหว่างการก่อสร้าง การรถไฟฯ ได้จัดเตรียมพื้นที่รองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรื้อย้ายสาธารณูปโภค กรณีเร่งด่วน จำนวน 19 ครัวเรือน และ 42 ครัวเรือน (ระยะที่ 2) ด้วย โดยจะพิจารณาให้เช่าในอัตราสำหรับผู้มีรายได้น้อยต่อไป อย่างไรก็ตามการรถไฟฯ มีความตั้งใจอย่างยิ่งในการดูแลประชาชนทีได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนของรัฐ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการพิจารณาพื้นที่ปลูกสร้าง และรูปแบบที่พักอาศัยที่เหมาะสม ตลอดจนความสามารถในการชำระค่าเช่าของแต่ละครัวเรือน ซึ่งเป็นนโยบายที่การรถไฟฯ ให้ความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนมาโดยตลอด”