เปิดข้อเท็จจริง พรก.กู้เงิน 1.5 แสนล้าน พลังงานจะใช้ยังไง ทำอะไร อ่านเลย

17 ส.ค. 2565 | 23:11 น.

เปิดข้อเท็จจริง พรก.กู้เงิน 1.5 แสนล้าน พลังงานจะใช้ยังไง ทำอะไร อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ ยืนยันไม่การันตีตรึงดีเซลที่ 35 บาท

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างหารือรายละเอียดเกี่ยวกับร่างพระราชกำหนด (พรก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลัง ค้ำประกันการชำระหนี้ของ สกนช. พ.ศ.... และการกู้ยืมเงินของ สกนช. 150,000 ล้านบาท ให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนก่อนและสามารถปฏิบัติแต่ละขั้นตอนได้ถูกต้องตามที่คณะรัฐมนนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ หลังจากนั้นจะชี้แจงรายละเอียดให้สาธารณะชนทราบเร็วๆ นี้

 

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นวงเงินกู้ 150,000 ล้านบาท เป็นเพียงกรอบวงเงินกู้ที่จะขอเผื่อไว้ เพราะการออกเป็น พรก. ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อน นำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอนปกติ แต่ความจำเป็นกู้เงินเวลานี้ยังคงยืนยันพิจารณาตามความจำเป็นและความเหมาะสมที่ประเมินจากความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลัก ไม่กู้เงินเกินตัว 

 

และคงไม่กู้เต็มกรอบวงเงิน 150,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้วงเงินที่กองทุนขอกู้ก้อนแรกอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท และขอขยายเพดานไว้ที่ 40,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่มีเงินกู้เข้ามา ครั้งนี้จึงเรียกว่าเป็นการขยายเพดานรวมอยู่ในกรอบ 150,000 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่ก้อนแรกจะกู้เท่าไหร่หรือสุดท้ายจะกู้ทั้งหมดเท่าไหร่ยังไม่สามารถระบุได้ในเวลานี้ ต้องหารือกันอีกครั้ง
 

นอกจากนี้ ที่สำคัญจะต้องติดตามสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนต่อเนื่อง ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงได้ในระยะสั้น ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงค่าเงินบาทและปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันตลาดโลกให้มีความผันผวนสูงมาก และมีโอกาสที่จะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศขึ้นลงได้เช่นกันเป็นตัวกำหนดว่าจะกู้เท่าไหร่ 

 

ซึ่งหากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมากกว่านี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่ราคาขายปลีกดีเซลในประเทศอาจปรับขึ้นได้อีก ดังนั้นแม้กระทรวงการคลังจะค้ำประกันเงินกู้ให้กองทุนสามารถหาเงินกู้มาเสริมสภาพคล่องเพื่อนำมาตรึงราคาขายปลีกดีเซลในประเทศได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าราคาดีเซลจะไม่ขึ้น

 

เปิดข้อเท็จจริง พรก.กู้เงิน 1.5 แสนล้าน พลังงานจะใช้ยังไง

 

เนื่องจากกองทุนยังมีหนี้ 117,394 ล้านบาท จากการอุดหนุนดีเซล 76,518 ล้านบาท และอุดหนุนก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี (LPG) 40,876 ล้านบาท โดยหากใช้กรอบวงเงินกู้เต็มจำนวน 150,000 ล้านบาท มาโปะหนี้กองทุนที่ติดลบเกือบ 120,000 ล้านบาท จะเหลือส่วนต่างจากการกรอบวงเงินกู้ประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท 

 

ซึ่งภายใต้แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ผันผวนต่อเนื่อง และกองทุนยังต้องอุดหนุนต่อไป เท่ากับจะมีเงินเหลือจากพรก. ใช้ได้เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น
 

โดยปัจจุบันกองทุนใช้เงินอุดหนุนรวมวันละ 68.56 ล้านบาท เป็นการอุดหนุนดีเซลวันละ 37.06 ล้านบาท อุดหนุนแอลพีจีวันละ 31.50 ล้านบาท คิดเป็นภาพรวมเดือนละประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวให้ความเห็นว่า ความจริงการขอกู้ที่กรอบวงเงิน 150,000 ล้านบาท แต่กองทุนเป็นหนี้ติดลบเกือบ 120,000 ล้านบาท คงไม่พอ แต่สถานการณ์ราคาน้ำมันยังมีขึ้นมีลงแบบผันผวนตามปัจจัยต่างๆ จึงไม่ได้เป็นการการันตีว่าราคาขายปลีกดีเซลในประเทศจะตรึงไว้ที่ลิตรละ 35 บาทตลอดไป

 

หากราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนอยู่ในระดับสูงกว่านี้ ก็คงต้องมีการขยับตามความเหมาะสม ไม่ให้ขึ้นแรงในครั้งเดียว โดยยังคงใช้รูปแบบให้กองทุนเข้าไปอุดหนุนอยู่ครึ่งหนึ่งต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงมาก ก็อาจมีการปรับราคาดีเซลในประเทศลงได้บ้างในระดับที่มีความเหมาะสมเช่นกัน ไม่ได้ลงแรงมาก เพราะยังต้องเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อไปชำระหนี้ และยังคงใช้กลไกให้กองทุนเข้าไปอุดหนุนราคาครึ่งหนึ่งด้วย ดังนั้นหากราคาตลาดโลกไม่ได้ลดลงมากอย่างมีนัยสำคัญ ก็ไม่ได้หมายความว่าราคาดีเซลในประเทศจะต้องลดลงตามกันแต่อย่างใด