ถอดโมเดล "เกษตรกร" จากรายได้หลักหมี่น สู่ หลักแสน เขาทำกันยังไง?

07 ก.พ. 2565 | 10:44 น.

เปิดโมเดลที่น่าสนใจ ทำให้ "เกษตรกรยิ้ม" จากปลูกพืชเชิงเดี่ยวรายได้เพียง 20,500 บาทต่อปี เปลี่ยนเป็นเกษตรผสมผสานรายได้พุ่ง 186,200 บาทต่อปี เขาทำกันยังไง ดูได้ที่นี่

เขื่อนขุนด่านปราการชล ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สร้างประโยชน์แก่ประเทศชาตินับตั้งแต่ปี 2547 ในหลายมิติ

 

เป็นเขื่อนที่ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง เป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้แก่พื้นที่เพาะปลูกกว่า 185,000 ไร่ โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งประมาณ 60,000 กว่าไร่ เกษตรกรจำนวน 96 หมู่บ้าน กว่า 9,000 ครัวเรือน มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค

 

และนอกจากนี้ยังสามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่ 4 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนครนายก อำเภอปากพลี อำเภอองครักษ์ และอำเภอบ้านนา สำหรับอุปโภคบริโภค รวมถึงเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม

 

อีกทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว โดยการผันน้ำจากเขื่อนขุนด่านปราการชลชำระล้างดินเปรี้ยวควบคู่กับการปรับปรุงบำรุงดินโดยการใช้ปูนขาวเพื่อลดความเป็นกรด และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์โดยใช้ปุ๋ยพืชสด

 

นอกจากนี้ยังส่งผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดนครนายก ทั้งด้านการท่องเที่ยว สร้างอาชีพบริการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น ที่พัก ร้านอาหาร   ฯลฯ

เขื่อนขุนด่านปราการชล ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก

นางวรรณเพ็ญ  ธูปจีน ราษฎรบ้านท่าซุง หมู่ที่ 8 ตำบลศรีนาวา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก หนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ กล่าวว่า เมื่อก่อนทำนาอย่างเดียวรายได้ไม่ค่อยดีหลังจากมีเขื่อนขุนด่านฯ เลิกทำนาหันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งพืชผัก ไม้ผล เช่น มะยงชิด มะปรางหวาน

 

โดยเกษตรอำเภอ กรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาแนะนำและส่งเสริมให้เป็นแปลงต้นแบบ มีการจัดการเรื่องระบบน้ำ พร้อมให้เมล็ดพันธุ์ผักและวิธีการให้น้ำแปลงผักแบบประหยัดน้ำด้วยระบบสปริงเกอร์ ทำให้พืชได้น้ำอย่างทั่วถึงเจริญเติบโตดี  แถมมีเวลาว่างไปทำงานอย่างอื่นทำให้มีได้รายเสริมเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

นางวรรณเพ็ญ  ธูปจีน ราษฎรบ้านท่าซุง หมู่ที่ 8 ตำบลศรีนาวา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก

“พื้นที่ 6 ไร่ 2 งาน ปลูกมะยงชิด 5 ไร่ สร้างโรงเมล่อน โรงแตงโม แปลงมะเขือเทศ เมื่อได้ผลผลิตดีขึ้นก็ขยายเพิ่ม ทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปี ปีหนึ่ง ๆ เป็นหลักแสน อยากจะขอบคุณพระองค์ท่านที่มีความเมตตากรุณาสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชลขึ้นมา ทำให้มีน้ำใช้ได้อย่างทั่วถึง ดีกว่าทำนาเยอะ เมื่อก่อนทำนา 5 ไร่ รายได้แค่เกวียนละ 5,000 บาท ก็ไม่พอใช้ต้องไปหารับจ้างทำงานอย่างอื่น พอมีน้ำชีวิตดีขึ้น น้ำ คือชีวิต รู้สึกดีใจมากที่มีความอุดมสมบูรณ์ รู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของในหลวง” นางวรรณเพ็ญ ธูปจีน กล่าว

ถอดโมเดล "เกษตรกร" จากรายได้หลักหมี่น สู่ หลักแสน เขาทำกันยังไง?

และเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 20 มกราคม 2565  พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังเขื่อนขุนด่านปราการชล เพื่อเยี่ยมชมและติดตามการบริหารจัดการน้ำ พร้อมรับฟังสรุปผลการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนฯ จากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


 

และลงพื้นที่แปลงเกษตรของนางวรรณเพ็ญ ธูปจีน เพื่อเยี่ยมชมและติดตามผลการส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่รับประโยชน์จากเขื่อนขุนด่านปราการชล ที่อยู่นอกเขตคลองส่งน้ำ โดยมีผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร รายงานสรุปเกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่

 

และได้เยี่ยมชมกิจกรรมภายในแปลงเกษตร ซึ่งพบว่า นับตั้งแต่เกษตรกรได้เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อปี 2561 - 2563 ด้วยการทำเกษตรผสมผสานปลูกพืชแบบหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน ทำให้มีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ยามที่ผลผลิตจากพืชชนิดหนึ่งราคาตกต่ำก็จะมีผลผลิตจากพืชชนิดอื่นเข้ามาทดแทน ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นเป็น 186,200 บาทต่อปี จากที่เคยมีรายได้เพียง 20,500 บาทต่อปีจากการปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยว 

ถอดโมเดล "เกษตรกร" จากรายได้หลักหมี่น สู่ หลักแสน เขาทำกันยังไง?

ปัจจุบันแปลงเกษตรกรแบบผสมผสานของนางวรรณเพ็ญ  ธูปจีน ได้รับการยกระดับเป็นแปลงเรียนรู้ต้นแบบไม้ผลของกรมส่งเสริมการเกษตร ในโครงการพัฒนาพื้นที่เขื่อนขุนด่านปราการชลฯ ปี 2561 ที่ผ่านมา โดยมีเกษตรกรและผู้ที่สนใจเดินทางเข้าศึกษาดูงานเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในความมั่นคงของชีวิตที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้