อุบลฯเมืองประวัติศาสตร์มหัศจรรย์ แม่นํ้าสองสี

16 ธ.ค. 2562 | 05:00 น.

อุบลราชธานี จังหวัดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง  จังหวัดนี้สำคัญตรงที่ว่าเป็นตำบลที่ตั้งของเส้นเวลาหลักของประเทศ ที่เส้นแวง 105 องศาตะวันออก เป็นจังหวัดแรกที่ได้เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนพื้นที่อื่นๆ ของไทยชมปรากฏการณ์ตะวันอ้อมโขงในช่วงฤดูหนาวช่วงก่อนสิ้นปีและปีใหม่ มีภาษาถิ่นวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่น อย่างประเพณีแห่เทียนพรรษาทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานี และที่น่าสนใจคือสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติมีมากมายไม่ว่าจะเป็น ผาแต้ม ผาชะนะได สามพันโบก และความงามตามธรรมชาติของแม่นํ้าโขง เป็นต้น

ทั้งเป็นจังหวัดที่แม่นํ้าสายสำคัญทั้งหมดของภาคอีสานทั้งโขง ชี มูล ไหลมาบรรจบกัน ก่อนจะไหลไปรวมกับแม่นํ้าโขงบริเวณจุดชมวิวทางธรรมชาติ กลายเป็นโขงสีปูน มูลสีคราม ที่อำเภอโขงเจียม ปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่แม่นํ้า 2 สายไหลมาบรรจบกัน จึงเกิดการเปรียบสีนํ้าของแม่นํ้าทั้ง 2 สาย หากจะชมต้องไปชมที่จุดชมวิว ลาดริมตลิ่งหน้าวัดโขงเจียม และที่หมู่บ้านห้วยหมาก ชมแม่นํ้าสองสีแล้ว อยากนั่งเรือชมทัศนียภาพริมฝั่งโขงก็ทำได้ด้วย

อุบลฯเมืองประวัติศาสตร์มหัศจรรย์ แม่นํ้าสองสี

เมืองใหญ่แห่งนี้ มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากว่า 200 ปี และแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลืองยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ที่วัดบ้านก้านเหลือง ตำบลขามใหญ่ ในตัวอำเภอเมือง กรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นเมื่อปี 2539 พบโบราณวัตถุต่างๆ มากมาย เช่น ลูกปัด เครื่องปั้นดินเผา การทำโลหะผสม กระพรวนสำริด ขวานเหล็ก และแกลบข้าวจำนวนมาก แต่ไม่พบโครงกระดูกมนุษย์ สันนิษฐานว่าชุมชนโบราณแห่งนี้เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีอายุระหว่าง 2,500-2,800 ปีมาแล้ว อยู่ในยุคโลหะตอนปลาย จึงเป็นเมืองประวัติศาสตร์อีกแห่งที่น่าไปยล

ชมวิวผาชะนะได ฟังวิทยุจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ที่นี่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม  เป็นภูเขาที่มีความสูงเหนือระดับนํ้าทะเลปานกลางประมาณ 450 ม. ส่วนของหน้าผาตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกสุดของไทย เป็นจุดเริ่มต้นคำนวณเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ตั้งอยู่ในป่าดงนาทาม ไฮไลต์สำคัญคือ ทุ่งดอกไม้ป่าหลายชนิดซึ่งจะพร้อมใจกันบานสะพรั่งเป็นทุ่ง มีทั้งดอกหญ้า ดอกไม้ดิน ดอกดุสิตา ดอกสร้อยสุวรรณา ดอกทิพย์เกสร ดอกสรัสจันทร ดอกหญ้าดาว เป็นต้น โดยจะบานช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม ของทุกปี

อุบลฯเมืองประวัติศาสตร์มหัศจรรย์ แม่นํ้าสองสี

เขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มนี้ เป็นจุดที่มองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นเป็นจุดแรกของประเทศไทย  ทิวทัศน์เบื้องล่างจะเป็นแม่นํ้าโขงกั้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทย-ลาว เบื้องหน้าเป็นภูเขาแดนลาวที่วางเรียงรายสลับซับซ้อนมองดูสวยงาม ช่วงฤดูหนาวเช่นนี้ จะได้สัมผัสกับความสวยงามของทะเลหมอกเหนือลำนํ้าโขง  ส่วนหนทางที่จะขึ้นไปนั้นอาจจะโหดสักนิดใครจะไปควรต้องศึกษาให้ดี แต่บอกเลยว่าไปแล้วคุ้ม ตลอดระยะ 2 ข้างทางเต็มไปด้วยธรรมชาติ ชมนํ้าตก หินรูปร่างแปลกตา ลานดอกไม้ป่า ล้วนดึงดูดใจให้แวะแชะชิลด์กัน ใช่ว่ามาที่นี่เพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น ก่อนถึงผาชะนะได มีจุดชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยงาม คือ เสาเฉลียงคู่ ถือได้ว่าเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยที่สุดในจังหวัดอุบลราชธานีเลยก็ว่าได้  แลเห็นภูเขาเรียงรายสลับซับซ้อนของผืนป่าดงนาทามที่กว้างใหญ่ เงียบสงบ บรรยากาศโรแมนติกมาก  

ขึ้นไปชมควรนอนดูดาวที่ลานกางเต็นท์  ชมพระอาทิตย์ขึ้นช่วงปลายฝนต้นหนาว ตุลาคม-ธันวาคม จะมีทะเลหมอกให้ชมสลับกับเทือกเขาที่สลับซับซ้อนทางฝั่งประเทศลาว ท่ามกลางดงดอกไม้ป่านานาชนิดที่ผลิดอกบานสะพรั่งทั่วทั้งผืนป่าดงนาทาม ใกล้กันจะมีผากำปั่น  ผาที่มีชะง่อนหินยื่นออกไปทางแม่นํ้าโขงรอคนใจกล้า ออกไปยืนถ่ายรูปและชมวิวของฝั่งประเทศลาว ที่นี่ยังมีที่ให้นักผจญภัยไปผจญภัยกันการเดินทางไปยังผากำปั่นควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางในการเดินเท้าเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว แนะนำนิดหนึ่งหากไปที่นี่ติดต่อเจ้าหน้าที่จะดีที่สุด อุบลฯเมืองประวัติศาสตร์มหัศจรรย์ แม่นํ้าสองสี

 

อีกที่ปักหมุดได้เลย “สามพันโบก”ตั้งอยู่ที่บ้านโป่งเป้า อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ที่นี่ถูกรังสรรค์โดยธรรมชาติสวยงามแปลก มหัศจรรย์ เป็นแก่งหินขนาดใหญ่ ถูกกัดเซาะกลายเป็นแอ่งและหลุมมากมาย โดยผลงานของแม่นํ้าโขงที่กัดเซาะแก่งหินนี้ ในช่วงฤดูนํ้าหลากทุกๆ ปี  ซึ่งเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดเป็นแอ่งมากมายมากกว่า 3,000 โบก และฝั่งตรงข้ามไม่ไกล คือลาว ช่วงหน้าแล้ง สามพันโบก จะโผล่พ้นนํ้าเป็นเนินแก่งหินขนาดใหญ่กลางลำนํ้าโขง ความสวยงามตระการตาของหินที่ถูกนํ้าเซาะเป็นภาพศิลปะ รูปร่างแตกต่างกันออกไป
เช่น รูปดาว วงรี มิกกี้เมาส์ สวยงาม  ชมแกรนด์แคนยอนไทย ที่มีลักษณะเป็นหน้าผา 2 ฝั่ง จะเห็นความละเอียดของการกัดเซาะจากลำนํ้าโขง ทำให้เกิดความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติรังสรรค์ให้มนุษย์ต้องออกไปลองให้รู้ว่าเมืองไทยเราสวยงามไม่แพ้ที่ใดในโลก!!

หน้า 23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,531 วันที่ 15 - 18 ธันวาคม พ.ศ. 2562

อุบลฯเมืองประวัติศาสตร์มหัศจรรย์ แม่นํ้าสองสี