เมืองหม้อห้อม ร่องรอยโบราณ ตำนานของแพร่

04 ธ.ค. 2562 | 03:35 น.

ช่วงนี้ขอสัญจรอยู่ภาคเหนือกันก่อน ภาคอื่นๆ อย่าเพิ่งน้อยใจไปเดี๋ยวแวะเวียนไปหา ต้นเหตุน่ะรึ!..“ความหนาวของอากาศ”นั่นเอง ที่ต้องทำให้เราต้องติดอยู่กับการเที่ยวเมืองเหนือช่วงนี้  ครั้งนี้แวะลงมาเหนือตอนล่างเสียหน่อย เมืองเล็กๆ เงียบๆ สงบๆ แต่ทางโบราณคดีพื้นที่จังหวัดแพร่ พบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด หอกสำริด ที่อำเภอลอง และอำเภอวังชิ้น ต่อมามีการค้นพบแหล่งโบราณคดีแห่งใหม่ในถํ้าที่บ้านนาตอง ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ขวานหิน และเครื่องมือหิน จากการตรวจสอบอายุพบว่ามีอายุราว 4,000 ปี เห็นหรือยังว่าน่าสนใจทีเดียว การชมเมืองครั้งนี้เลือกสถานที่ให้ไปกันง่ายๆ วางรูตให้ไม่ไกลกันนัก เลยพาชมเฉพาะในอำเภอเมือง..ก่อนแล้วกัน  แค่นี้ก็เที่ยวไม่ไหวแล้วสถานที่มากจริงๆ แต่อย่าหาว่าพาชมแต่วัดเพราะแต่ละที่น่าสนใจจริงๆ

เมืองหม้อห้อม ร่องรอยโบราณ ตำนานของแพร่

มาเริ่มปักหลักที่ “วัดพระนอน”  โบราณสถานที่เก่าแก่ยิ่งแห่งหนึ่งในเมืองแพร่  สร้างด้วยศิลปะผสมผสานถึง 3 ยุค คือ เชียงแสน สุโขทัย และอยุธยาตอนปลาย สร้างโดย เจ้าพระยาชัยชนะสงคราม และพระนางเจ้าอู่ทองศรีพิมพา เมื่อ จ.ศ. 236 มีพระอุโบสถแบบเชียงแสนคือไม่มีหน้าต่างแต่ทำเป็น
ช่องรับแสงแทน ส่วนหน้าบันแกะสลักอย่างงดงามเป็นลายก้านขด มีภาพรามเกียรติ์ประกอบ ส่วนวิหารตกแต่งชายคาด้วยไม้ฉลุโดยรอบ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นยาว 9 เมตร ลงรักปิดทองตลอดองค์

อย่าช้ามาต่อที่ วัดหลวง วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัด สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่ สิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่  วิหารหลวงพลนคร : วิหารเก่าแก่สร้างพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่ ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคือ พระเจ้าแสนหลวง สร้างโดยเจ้าเมืององค์หนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2057 พระธาตุหลวงไชยช้างคํ้า : พระเจดีย์ศิลปะเชียงแสน ประดิษฐานพระธาตุที่นำมาจากเมืองหงสาวดี พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ : เป็นสถานที่รวบรวมพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ที่มีอายุเกือบ 500 ปี และโบราณวัตถุต่างๆ ของเมืองแพร่ นอกจากนี้ยังมีคุ้มพระลอ ซึ่งเป็นการจัดแสดงตัวอย่างบ้านแบบล้านนาโบราณ 

วัดพระธาตุช่อแฮที่ที่คนปีขาลต้องไปนมัสการ เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง มาช้านาน เป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีขาล (เสือ) ผู้ที่เกิดปีขาลนำผ้าแพร 3 สีมาถวายจะทำให้ชีวิตมีพลังคุ้มครอง ป้องกันศัตรูได้ องค์พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า 

พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ “คุ้มเจ้าหลวง” จุดเด่น คือ อาคารมีความสง่างาม โอ่โถงมีประตู หน้าต่างรวม 72 บาน รูปทรงแบบสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคต้น คือ ไทยผสมยุโรป หรือทรงขนมปังขิง อาคารประดับด้วยไม้แกะฉลุสลักลวดลายอย่างสวยงาม ซึ่งเป็นช่างชาวจีน อาคารนี้เคยใช้เป็นที่ประทับแรม ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อคราวเสด็จเยี่ยมเยือนราษฎรจังหวัดแพร่ในปี 2501 และยังได้รับพระราชทานรางวัลอาคาร อนุรักษ์ดีเด่นประจำปี 2536 และสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสถาบัน และสาธารณะ ประจำปี 2540 จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ ภายในอาคารมีห้องจัดแสดงมรดกภูมิปัญญา ท้องถิ่นของเมืองแพร่ ข้าวของเครื่องใช้ตามธรรมเนียมประเพณีเจ้านายฝ่ายเหนือ  และอื่นๆ ที่น่าศึกษาอีกมาก เข้าชมฟรี

เมืองหม้อห้อม ร่องรอยโบราณ ตำนานของแพร่

ที่แห่งนี้ไม่ไปไม่ได้ หมู่บ้านทุ่งโฮ้งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง อาชีพหลัก คือการทำผ้าหม้อห้อมแท้ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษ ที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่ จนได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP เชิงหัตถกรรม ชมกระบวนการผลิตผ้าหม้อห้อมได้ทุกขั้นตอน และสามารถเลือกซื้อได้โดยตรงจากชาวบ้าน

ปิดท้ายทริปที่ นํ้าตกแม่แคม เป็นนํ้าตกขนาดเล็ก มี 2 ชั้น นํ้าไหลแรงตลอดปี สภาพทั่วไปเป็นป่า เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบการเดินป่า

หน้า 23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,527 วันที่ 1 - 4 ธันวาคม พ.ศ. 2562

เมืองหม้อห้อม ร่องรอยโบราณ ตำนานของแพร่