“นาฬิกา ร๙” Landmark ใหม่ @สถานีกลางบางซื่อ 

02 พ.ย. 2562 | 05:20 น.

สิ่งหนึ่งที่เป็นการแสดงออก ของการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือรฟท. คือดำเนินการติดตั้งนาฬิกาประจำสถานีกลางบางซื่อ ที่ออกแบบเป็นพิเศษ ให้บนหน้าปัดมีแค่เลข “๙” เพียงเลขเดียว เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

“นาฬิกา ร๙” Landmark ใหม่ @สถานีกลางบางซื่อ 

  ลองมาฟังแนวคิดการออกแบบกันบ้าง “สุชีพ สุขสว่าง” วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง บอกว่าเอกลักษณ์ของสถานีรถไฟทั่วโลก จะมีนาฬิกาบอกเวลา นาฬิกา หมายถึงการเดินทางที่เที่ยงตรง เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยมีโครงการที่จะย้ายศูนย์กลางการคมนาคมทางรางจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) มายังสถานีกลางบางซื่อ จึงได้คำนึงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นมาอย่างยาวนานของการรถไฟไทย จึงได้หยิบจุดเด่นของสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) มาเป็นรูปแบบด้านหน้าอาคารสถานีกลางบางซื่อ เมื่อ “สถานีกลางบางซื่อ” เปิดให้บริการ จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เป็น Landmark แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร อาคารจึงควรมี “นาฬิกา” ที่โดดเด่นเช่นกัน

ส่วนเรื่องการออกแบบนั้นออกโดย บริษัท ดีไซน์ คอนเซป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสถาปนิกที่ออกแบบทุกอาคารในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงนี้ การออกแบบรายละเอียดของนาฬิกา ทางสถาปนิกเป็นผู้กำหนดรูปแบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น font ที่ใช้กับเลข ๙ สี ขนาดของขีดบนหน้าปัด การให้แสงไฟ เป็นต้น โดยแนวคิดต้องการให้ “นาฬิกา” เรือนใหญ่พิเศษเป็นสัญลักษณ์ของสถานีรถไฟ

“นาฬิกา ร๙” Landmark ใหม่ @สถานีกลางบางซื่อ 

“นาฬิกา ร๙” Landmark ใหม่ @สถานีกลางบางซื่อ 

    งานออกแบบรายละเอียดนั้นเริ่มทำในปี 2550 ตั้งใจจะให้มีความโดดเด่นด้วยความเป็นตัวตน คนไทย ตัวเลขบนนาฬิกาจึงควรเป็นเลขไทย และโดดเด่นเพียงเลขเดียว ซึ่ง ณ เวลานั้นจะมีเลขใดเหมาะสมไปกว่า “เลข ๙” แต่พอมาถึงวันนี้ “เลข ๙” จึงมีความหมายเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙

ทำให้นาฬิกาที่สถานีกลางบางซื่อ ที่ออกแบบเป็นพิเศษ บนหน้าปัดมีเลข ๙ เพียงเลขเดียว ตัวเรือนนาฬิกามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เมตร ติดตั้งบนผนังกระจกของทางเข้าสถานี สูงจากระดับพื้นดิน 21 เมตร ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในหลายๆ สัญลักษณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นในสถานีกลางบางซื่อแห่งนี้ นาฬิกาเรือนนี้ผลิตโดย บริษัท Electric Time Company, Inc. อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และนำชิ้นส่วนประกอบ ติดตั้งตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา ระหว่างนี้จึงเป็นช่วงของการทดสอบระบบ  

“นาฬิกา ร๙” Landmark ใหม่ @สถานีกลางบางซื่อ 

อีกทั้งการติดตั้งนาฬิกา ยังเป็นช่วงใกล้กับวันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันปิยมหาราชวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงเป็นผู้ก่อกำเนิดรถไฟไทยอีกด้วย เท่ากับเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยถึง 2 พระองค์ ซึ่งควรภูมิใจที่ไทยเราก็มีนาฬิกาเรือนใหญ่มาเป็นสัญลักษณ์ที่น่าสนใจ  ดึงดูดทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวให้เข้ามาชม

“นาฬิกา ร๙” Landmark ใหม่ @สถานีกลางบางซื่อ 

ด้าน “เอกรัช ศรีอาระยันพงษ์” หัวหน้ากองโฆษณาและส่งเสริมการท่องเที่ยว รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ เล่าเสริมอีกว่า สถานีกลางบางซื่อ ปัจจุบันก่อสร้างคืบหน้าไปมากกว่า 80%  มีกำหนดเปิดใช้งานในปี 2564  ซึ่งประกอบด้วย 26 ชานชาลา เป็นชานชาลาของการรถไฟแห่งประเทศไทย 24 ชานชาลา และของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2 ชานชาลา รองรับผู้โดยสารได้ถึง 300,000 คน/วัน ที่นี่สามารถเชื่อมต่อระบบการคมนาคมอื่นๆ ได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ รถไฟความเร็วสูง รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ นับเป็นการพลิกโฉมการเดินทางด้วยระบบรางของไทยทีเดียว   

“นาฬิกา ร๙” Landmark ใหม่ @สถานีกลางบางซื่อ 

สถานีกลางบางซื่อ ก่อสร้างเป็นอาคาร 4 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน มีพื้นที่รวม 72,542 ตร.ม. ชั้นที่ 1 มีพื้นที่รวม 86,700 ตร.ม. เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร สำนักงาน พื้นที่พักคอย และห้องน้ำผู้โดยสาร รวมถึงสามารถเชื่อมต่อกับ MRT ได้ ชั้นที่ 2 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) มี 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล จำนวน 8 ชานชาลา มีพื้นที่รวม 42,000 ตร.ม. และชั้นที่ 3 มีพื้นที่รวม 42,300 ตร.ม. เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟความเร็วสูง จำนวน 10 ชานชาลา และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ จำนวน 2 ชานชาลา และมีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อส่วนของรถไฟฟ้า

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,519 วันที่ 3 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

“นาฬิกา ร๙” Landmark ใหม่ @สถานีกลางบางซื่อ