รู้จักเคมีบำบัดกับการรักษามะเร็งกันเถอะ!!

04 พ.ย. 2562 | 05:20 น.

 

โรคมะเร็งทุกวันนี้กลายเป็นปัญหา เป็นสาเหตุการตายที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 โดยมะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 คือ มะเร็งปอด ตามด้วยมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งการรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด 

รู้จักเคมีบำบัดกับการรักษามะเร็งกันเถอะ!!

ลองมาฟัง “พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลวัฒโนสถ เล่าให้ฟังว่า โรคมะเร็งที่รักษาได้ผลดี (Curable Cancer) นั้น ส่วนใหญ่ถ้าสามารถวินิจฉัยได้ในระยะเริ่มแรก จะเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด เช่น โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น แต่หากวินิจฉัยเมื่อโรคเป็นมากแล้ว และมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็ง ทำให้โรคมะเร็งบางชนิดที่แม้มีการแพร่กระจายไปแล้วก็สามารถเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายได้ โดยโรคมะเร็งที่สามารถรักษาได้ผลดี (Curable) ด้วยยาเคมีบำบัด คือ 1) โรคมะเร็งอัณฑะ 2) โรคมะเร็งเนื้อรก หรือ Choriocarcinoma 3) โรคมะเร็งต่อมนํ้าเหลือง บางชนิด และ 4) โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด

วิธีการรักษาส่วนใหญ่จะรักษาแบบ “สหสาขา” หมายถึง การรักษาโดยทีมแพทย์หลายสาขาร่วมกัน สำหรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) นับเป็นการรักษาหลักของการรักษาทางยาที่ใช้มากที่สุด อาจใช้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอย่างเดียว  หรืออาจใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาที่เรียกว่า Chemoradiation อาจใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับยามุ่งเป้า หรือยาภูมิคุ้มกันบำบัดได้ โดยขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคมะเร็ง การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน(Hormonal Therapy) นับเป็นการรักษาที่ใช้รองลงมาจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) และการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) โดยการพยายามใช้ภูมิคุ้มกันในร่างกาย ต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง

รู้จักเคมีบำบัดกับการรักษามะเร็งกันเถอะ!!

ระยะของโรคมะเร็งและแนวทางรักษา โดยทั่วไปแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ โรคมะเร็งระยะที่ 1 - 2 คือ ระยะแรกที่สามารถผ่าตัดได้ หลังการผ่าตัดผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องให้การรักษาเสริมภายหลังด้วยยาเคมีบำบัดและ/หรือยาต้านฮอร์โมน ที่เรียกว่า Adjuvant Treatment ระยะที่ 3 คือ มักลุกลามมากขึ้น การกระจาย ไปต่อมนํ้าเหลืองใกล้เคียงบางรายสามารถผ่าตัดได้ ศัลยแพทย์ก็จะผ่าตัดก่อน หลังการผ่าตัดผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องให้การรักษาเสริมภายหลังด้วย
ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา และ/หรือยาต้านฮอร์โมน เหตุผลที่มีการนำเอายาเคมีบำบัดและยาอื่นๆ มาให้เสริมหลังผ่าตัดก็เพื่อลดอุบัติการณ์ของการกลับมาของโรคมะเร็ง ทั้งแบบเฉพาะที่และแบบแพร่กระจาย  

ซึ่งท้ายที่สุดจะเพิ่มระยะเวลาการรอดชีวิตของผู้ป่วยในบางรายที่โรคเป็นมากและการผ่าตัดอาจทำได้ แต่ผลการรักษาอาจไม่ดี เนื่องจากขนาดก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ จึงมีการนำเอายาเคมีบำบัดมาใช้รักษาในระยะเบื้องต้นก่อนการผ่าตัด เพื่อให้ก้อนเล็กลง ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดเก็บอวัยวะหรือผ่าตัดเก็บเต้านมได้ จากนั้นก็ให้การรักษาอื่นตามในภายหลัง ส่วนระยะที่ 4 หรือโรคมะเร็งระยะที่ 1 - 3 และมีการกลับมาของโรค ผู้ป่วยจะมีโรคลุกลามมากขึ้นและแพร่กระจายไปอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด ตับ กระดูก สมอง และที่อื่นๆ ซึ่งโรคมะเร็งระยะที่ 4 นี้ บางชนิดสามารถเพิ่มโอกาสรักษาให้ได้ผลดีได้ด้วยยาเคมีบำบัด เช่น โรคมะเร็งอัณฑะ โรคมะเร็งเนื้อรก เป็นต้น

อย่างไรก็ตามโรคมะเร็งระยะแพร่กระจายนี้ส่วนมากรักษาไม่หายขาด แต่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ หากผู้ป่วยมีกำลังใจดี มีร่างกายที่แข็งแรงพอสมควร แพทย์สามารถให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ที่เป็นการรักษาหลักในการรักษาโรคมะเร็งระยะแพร่กระจาย โดยยาเคมีบำบัดจะไปหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ทั้งที่อยู่เฉพาะที่และที่แพร่กระจายไป หากการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยาเคมีบำบัดนั้นได้ผลดี การรักษาก็จะเพิ่มระยะเวลาการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้และคุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นตามไป

หน้า 24 ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,519 วันที่ 3 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

รู้จักเคมีบำบัดกับการรักษามะเร็งกันเถอะ!!