‘รอยสัก’ ที่คนรุ่นใหม่ไม่เคยรู้กับ ‘ลายสัก 3 กลุ่มชาติพันธุ์’

28 ต.ค. 2562 | 05:55 น.

 

“รอยสัก” หลายคนยังอยู่ในห้วงคำถามที่ชวนขบคิดว่า การสักนั้นดีอย่างไร...เพื่ออะไร 

จะพบว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้ตัดสินคนจากรอยสัก แต่เป็นศิลปะบนเรือนร่างที่ตั้งใจแฝงความหมายในหลากมิติ ทั้งสังคม วัฒนธรรม ความกล้าหาญ เกียรติยศ และคติความเชื่อ ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละชาติพันธุ์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) อินไซด์นิยามรอยสัก3 ชาติพันธุ์ “ชาวไท่หย่า (Atayal) ชาวไผวัน (Paiwan) จากไต้หวัน และชาวล้านนาไทย” น่าสนใจ...

 

‘รอยสัก’ ที่คนรุ่นใหม่ไม่เคยรู้กับ ‘ลายสัก 3 กลุ่มชาติพันธุ์’

 *รอยประทับสีรุ้งที่ใบหน้า สะพานเชื่อมจิตใจของชาวไท่หย่าก่อนที่ไต้หวันมาถึงจุดที่สภาพบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอดีตเป็นถิ่นอาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งรกรากบริเวณทางตอนเหนือของไต้หวัน เรียกว่าไท่หย่า (Atayal) ที่สร้างวัฒนธรรมของตนเองและมีรอยสักที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น คือ การสักหน้า ด้วยลวดลาย “รอยประทับสีรุ้ง” บริเวณหน้าผากและโหนกแก้ม ซึ่งตามตำนานของชาวไท่หย่าเชื่อว่าผู้ที่มีรอยสักบนใบหน้าเท่านั้น ที่สามารถข้ามสะพานแห่งสายรุ้งไปสู่โลกหลังความตายและได้พบบรรพบุรุษที่ล่วงลับ โดยการสักยังหมายถึงเครื่องหมายที่แสดงถึงการยอมรับ ให้เป็นส่วนหนึ่งของชาวไท่หย่าอย่างแท้จริง ซึ่งผู้หญิงที่จะได้รับการยอมรับต้องมีฝีมือในการถักทอและเพาะปลูก ทั้งยังพบหลักฐานการสักบริเวณคางในผู้ชายซึ่งหาได้ยากเป็นสัญลักษณ์ของชายชาตินักรบ ที่มีความแข็งแรง

*รอยสักที่บ่งบอกชนชั้นและศักดิ์ศรีของชาวไผวันกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเก่าแก่ของไต้หวัน คือ ไผวัน (Paiwan) ซึ่งพบหลักฐานการมีตัวตนอยู่ทางตอนใต้  มองว่ารอยสักเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และสถานะทางสังคม ซึ่งต้องได้รับการอนุญาตจากหัวหน้าเผ่าก่อน หากใครที่สักลายโดยไม่ได้รับอนุญาตจะถูกลงโทษหรือถูกกีดกันจากคนในเผ่า ผู้ชายจะสักเป็นแนวยาวบริเวณหน้าอก หลังแขน ไปจนถึงแผ่นหลัง คล้ายกับเครื่องแต่งกายของบุคคลชั้นสูง ส่วนผู้หญิงจะสักบริเวณหลังมือ มีลวดลายพิเศษเฉพาะเจาะจงคือ รูปคน ซึ่งหมายถึงชนชั้นปกครองเท่านั้นดังนั้น การสักของชาวไผวันจึงหมายถึงการมีตัวตนและเป็นสิ่งที่ปรากฏบนร่างกายไปตลอดชีวิต

‘รอยสัก’ ที่คนรุ่นใหม่ไม่เคยรู้กับ ‘ลายสัก 3 กลุ่มชาติพันธุ์’

*รอยสักขาลายสัตว์หิมพานต์ รากเหง้าสังคมเพศชายชาวล้านนากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นอาศัยบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย แสดงถึงความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง ที่ต้องอดทนต่อความเจ็บปวด และมีอิทธิพลต่อสังคมเพศชายของชาวล้านนามายาวนานกว่าร้อยปี
จนกระทั่งในปัจจุบันกลายเป็นวัฒนธรรมที่กำลังไร้การสืบทอด และปรากฏให้เห็นเฉพาะในกลุ่มผู้ชายสูงอายุเท่านั้น ซึ่งลวดลายที่พบส่วนใหญ่จะเป็นลายสัตว์หิมพานต์ ตามคติความเชื่อจากศาสนาพุทธและฮินดู อาทิ สิงโต ค้างคาว นกกาบบัว เสือ ช้าง ลิงและหนุมาน ภายในกรอบสี่เหลี่ยมหรือทรงมน ตั้งแต่เอวถึงขา ซึ่งเชื่อว่าการสักขาลายเป็นการแสดงออกถึงศักดิ์ศรีของลูกผู้ชาย และผู้หญิงชาวล้านนาจะให้ความสนใจกับผู้ชายที่มีรอยสักที่ขา โดยเฉพาะผู้ที่มีรอยสักลายสิงห์มอม ที่มีดวงตาขนาดใหญ่ จ้องมองด้วยสายตาที่น่าเกรงขาม ใบหน้ารูปสามเหลี่ยมคล้ายลิง ลำตัวยาวยืดคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งเป็นนัยของความมีเสน่ห์ความกล้าหาญ มีความเป็นผู้นำ

หน้า 24 ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,517 วันที่ 27 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562

‘รอยสัก’ ที่คนรุ่นใหม่ไม่เคยรู้กับ ‘ลายสัก 3 กลุ่มชาติพันธุ์’