ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

19 ต.ค. 2562 | 12:20 น.

เนื่องในโอกาสมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จฯเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๒ นี้ ก่อนที่จะได้ชมภาพขบวนจริง หลายท่านคงได้เห็นภาพวันซ้อมย่อยซ้อมใหญ่กันแล้ว เพื่อให้ได้อรรถรสในการรับชมว่าเรือไหนเป็นเรืออะไร ลองมาฟัง “น.อ.ไพฑูรย์ ปัญญสิน” ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการฝ่ายควบคุมขบวนเรือ กองทัพเรือ เล่าว่า

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในแผ่นดินรัชกาลที่ ๑๐ ด้วยความใส่พระราชหฤทัยของ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพเรือจัดขบวนเรือตามโบราณราชประเพณี ในเส้นทางเสด็จฯ จากท่าวาสุกรี ไปยังท่าราชวรดิฐ ระยะทาง ๓.๔ กิโลเมตร เป็นพระราชพิธีเบื้องปลาย ในการเสด็จฯ เลียบพระนครทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ จึงมีการย้อนศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องการจัดขบวนเรือในอดีตแล้วนำมาปรับปรุงใหม่  

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

นับเป็นครั้งแรกที่เป็นไปตามขนบประเพณีโบราณที่มีการบันทึกเป็นหลักฐานชัดเจน มีการนำเทคโนโลยีติด GPS ที่ลำเรือเพื่อดูรูปขบวน ทำให้ขบวนมีความสวยงามมากขึ้น  โดยเฉพาะการปฏิบัติท่าทางในการพาย ที่จะใช้ท่าการพายนกบินตลอด และที่สำคัญฝีพายทุกคนต้องมีสติ ตื่นตัวตลอดเวลา ต้องครองตนอยู่ในระเบียบวินัยมากขึ้น ทั้งการจัดขบวนครั้งนี้จะถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยต่อไป

ทั้งนี้การจัดพระราชพิธีเบื้องปลาย ทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงาน กองทัพเรือนำขึ้นถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลายสิ่งผ่านพระเนตรพระกรรณ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯ ทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ขณะที่เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งสำรอง และตามร่างหมายกำหนดการ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ๒ พระองค์ จะเสด็จทรงเรือพระที่นั่งดังกล่าว สำหรับเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จะอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญลงประดิษฐาน และครั้งนี้จะมีพระตำรวจหลวงลงเรือครั้งแรก แอบกระซิบให้นิดหนึ่งใครที่อยากชมความสวยงามมากๆ ต้องไปจับจองที่นั่งช่วงบริเวณร.พ.ศิริราช

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

นอกจากนี้ด้านบทเห่เรือโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีการนิพนธ์ขึ้นใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ๓ บท คือ ๑.บทสรรเสริญพระบารมี ดังตัวอย่างข้างต้น  ๒.บทชมเรือ และ ๓.บทชมเมือง ซึ่งประพันธ์โดย น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย ข้าราชการบำนาญกองทัพเรือ

สำหรับการจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธี มีจํานวน ๕๒ ลํา กําลังพลฝีพาย จํานวน ๒,๒๐๐ นาย แบ่งออกเป็น ๕ ริ้ว ๓ สาย  โดยมีเรือที่สําคัญเป็นเรือพระที่นั่งได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งทรง  เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช  เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙ และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งรอง

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง ๔ ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้มีเรืออีเหลือง เป็นเรือกลองนอก เรือแตงโม ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ เป็นเรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน

  ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทะยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ ๘ ลำ และปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกชัยเหินหาว และเรือเอกชัยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก 

ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ ๑๔ ลำ รวมทั้งสิ้น ๕๒ ลำ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์  

 

 

 

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ 

 

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

 

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

 

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรือเอกชัยเหินหาว และเรือเอกชัยหลาวทอง 

เป็นชื่อเรือ ๒ ลำคู่กัน สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระเบิดสร้างความเสียหายให้กับเรือพระราชพิธีทั้ง ๒  ลำนี้มาก พ.ศ. ๒๕๐๘ บูรณะเรือใหม่โดยใช้หัวเรือเดิมมาประกอบ

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรือครุฑเหินเห็จและเรือครุฑเตร็จไตรจักร 

เรือเหล่าแสนยากรทำหน้าที่เป็นเรือรูปสัตว์หรือเรือศีรษะสัตว์ เป็นเรือคู่ของเรือครุฑเตร็จไตรจักร สร้างลำเรือครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรือพาลีรั้งทวีปและเรือสุครีพครองเมือง 

เรือเหล่าแสนยากรทำหน้าที่เป็นเรือรูปสัตว์หรือเรือศีรษะสัตว์ เป็นเรือคู่ของเรือสุครีพครองเมือง สร้างลำเรือขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรือกระบี่ปราบเมืองมารและเรือกระบี่ราญรอนราพณ์ 

เรือเหล่าแสนยากรทำหน้าที่เป็นเรือรูปสัตว์หรือเรือศีรษะสัตว์ เป็นเรือคู่ของเรือกระบี่ราญรอนราพณ์ สร้างลำเรือขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๑

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรืออสุรวายุภักษ์ และเรืออสุรปักษี 

ชื่อเรือ ๒ ลำนี้มาจากคำภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า อสุรวายุภักษ์ แปลว่า “อสูรผู้มีลมเป็นอาหาร” อสุรปักษี แปลว่า “อสูรผู้เป็นนก” หัวเรือของเรือทั้ง ๒ ลำมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือมีร่างกายเป็นนก มีหัวหรือหน้าเป็นยักษ์

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรือเสือทะยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ 

เป็นเรือ ๒ ลำที่ดัดแปลงจากเรือรบ เป็นเรือนำขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น 

เรือเหล่าแสนยากรทำหน้าที่เป็นเรือประตูในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรือตำรวจ 

มีลักษณะคล้ายกับเรือแตงโมและเรือดั้ง ไม่ปรากฏหลักฐานที่สร้าง มีพระตำรวจหลวงชั้นปลัดกรม หรือข้าราชการในพระราชสำนักที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์ นั่งประจำ

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี

เรือดั้ง 

เป็นเรือไม้ทาสีน้ำมัน ไม่มีลวดลายใช้เป็นเรือกระบวนสายนอก กลางลำมีคฤห์ ซึ่งมีนายทหารนั่งลำละ๑นาย ในเรือมีพลปืน๔นายและมีนายเรือ นายท้าย และฝีพายลำละ๒๙-๓๕ คนขึ้นอยู่กับขนาดของเรือและมีคนกระทุ้งเส้าลำละ ๒ นาย

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,515 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณี