พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน วิมานที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเป็นพระมหาจักรพรรดิราช  

05 พ.ค. 2562 | 08:00 น.

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน วิมานที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเป็นพระมหาจักรพรรดิราช  

จากข้อมูลของภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร  ระบุไว้ว่าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน นามของพระที่นั่งองค์นี้หมายถึงวิมานที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเป็นพระมหาจักรพรรดิราช  ประกอบไปด้วยพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก  พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์กลาง และพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันตก

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน วิมานที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเป็นพระมหาจักรพรรดิราช  

ภายในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก  เป็นที่ประดิษฐานพระวิมานที่บรรทมโดยเฉพาะของพระมหากษัตริย์  ตอนเหนือของพระวิมานมีพระแท่นราชบรรจถรณ์  ซึ่งกางกั้นด้วยพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรไว้ที่เพดาน  ตอนใต้ของพระวิมานเป็นห้องทรงเครื่องพระสำอาง  มีพระแท่นราชอาสน์ทอดเครื่องสรงพระพักตร์และเครื่องพระสำอาง  กางกั้นด้วยพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่เพดานเหนือพระแท่นราชอาสน์   ซึ่งตามพระราชนิติธรรมประเพณีพระมหากษัตริย์ที่ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว  แต่ยังมิได้ทรงรับบรมราชาภิเษก จะไม่เสด็จประทับบรรทมในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นอันขาด  ต่อเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีแล้ว  จึงจะเสด็จขึ้นประทับได้  

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์กลางเป็นห้องโถง  มีพระทวารและอัฒจันทร์เป็นทางลงสู่มุขกระสันชั้นลดซึ่งเป็นท้องพระโรงหน้าและท้องพระโรงใน  ส่วนพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภคและพระแสงราชศัตราวุธสำคัญ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อทรงรับบรมราชาภิเษกแล้วได้เสด็จประทับภายในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานอยู่เป็นประจำ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงสถาปนาหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์เป็นพระราชฐานที่ประทับแห่งใหม่ภายในพระบรมมหาราชวัง และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นพระราชฐานที่ประทับ  จึงมิได้เสด็จประทับ ณ พระวิมานที่บรรทมในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออกเป็นประจำดังเดิม 

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน วิมานที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเป็นพระมหาจักรพรรดิราช  

อย่างไรก็ตาม ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียรแล้ว จะประทับแรม ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานอย่างน้อย ๑ ราตรี  เพื่อให้เป็นมงคลฤกษ์แห่งรัชกาลใหม่  หลังจากนั้นจะเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระราชมณเฑียรสถานหรือพระราชวังอื่นๆ ตามพระราชอัธยาศัย  

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมณเฑียร  จะเตรียมการจัดแต่งพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน  โดยตั้งแต่งเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร ได้แก่ พระแส้หางช้างเผือก  ศิลาบดโมรา  พานพืชที่มีข้าวเปลือก  ถั่ว งา  เมล็ดพันธุ์ผักกาด เมล็ดฝ้าย พานฟัก  กุญแจทอง จั่นหมากทอง วิฬาร์หรือแมว และไก่ขาว  ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีความหมายอันเป็นสิริมงคลต่างๆ  เช่น พันธุ์พืชต่างๆ มีความหมายถึงความเจริญงอกงาม  ศิลาหมายถึงความหนักแน่น  ฟักหมายถึงความอยู่เย็นเป็นสุข เป็นต้น  
เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จฯ มายังพระราชมณเฑียรแล้ว พระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายในจะทรงปูลาดพระที่และทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับแล้วจะได้เสด็จประทับเอนพระองค์เบื้องขวาลงบนพระแท่นบรรทม ทรงรับการถวายพระพรแล้วทรงโปรยดอกพิกุลทองพิกุลเงินพระราชทานจึงเสร็จการพระราชพิธี