เสด็จออกสีหบัญชร พระบารมีแผ่ไพศาล 

05 พ.ค. 2562 | 05:35 น.

จากข้อมูลของประมวลองค์ความรู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก อธิบายถึงความหมายของ สีหบัญชร ไว้ว่า หน้าต่างของพระที่นั่ง ที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกให้ข้าราชการและประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในโอกาสสำคัญมีลักษณะเป็นระเบียงยื่นออกไป เช่น สีหบัญชรที่พระที่นั่งอนันตสมาคมพระราชวังดุสิต สีหบัญชรที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

จากข้อมูลของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ระบุถึง พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ได้อย่างน่าสนใจไว้ว่า อยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ระหว่างประตูเทวาพิทักษ์และประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ ในรัชกาลที่ ๑ สร้างเป็นพลับพลาสำหรับประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่ในการพระราชพิธีสระสนามใหญ่ (คือ การเดินช้าง เดินม้า ราชพาหนะ ออกมารับประพรมน้ำมนต์ หรือ จะเรียกว่าเป็นการสวนสนามจตุรงคเสนา ซึ่งมีริ้วขบวนประกอบด้วยพลเดินเท้า กระบวนช้าง กระบวนม้า และกระบวนรถ เดินขบวนผ่านหน้าที่ประทับรับประพรมน้ำมนต์ เพื่อชัยมงคลก็ได้) และทอดพระเนตรการฝึกช้าง ในรัชกาลที่ ๓ โปรดให้รื้อพลับพลาสร้างใหม่เป็นแบบปราสาท พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งสุทธาสวรรย์” ในรัชกาลที่ ๔ ทรงเปลี่ยนเป็น “พระที่นั่งสุทไธสวรรย์” 

เสด็จออกสีหบัญชร พระบารมีแผ่ไพศาล 

  จากข้อมูลของ ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขยายความต่ออีกว่า ในรัชกาลที่ ๔ และ รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทเป็นพระราชพิธีมณฑลในการพระราชพิธีและการพระราชกุศลต่างๆ เป็นอันมาก เช่น ในรัชกาลที่ ๔ จัดเป็นที่สวดมนต์เลี้ยงพระและจุดโคมชัยบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณีในดาวดึงส์พิภพในการพระราชพิธีจองเปรียง จัดเป็นที่สำหรับคณะสงฆ์รามัญ สวดมนต์ฉลองไตร ในการพระราชกุศลฉลองไตรปี จัดเป็นที่ประกอบพิธีสงฆ์ในการพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน และเสด็จประทับเป็นประธานในการเดินกระบวนจตุรงคเสนา ในการพระราชพิธีดังกล่าวนี้ ส่วนในรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระที่นั่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปอดีตมหากษัตริยาธิราช และจัดให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๗ (พ.ศ. ๒๔๒๕ ได้อัญเชิญพระบรมรูปประดิษฐานในพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท จึงย้ายไปถวายบังคม ณ ที่นั้น) ในรัชกาลปัจจุบันโปรดให้ต่อพระเฉลียงไม้ทางด้านตะวันออกทำเป็นสีหบัญชร เพื่อเป็นที่สำหรับเสด็จพระราชดำเนินออกให้ราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

  ด้านลักษณะทางสถาปัตยกรรมพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เป็นอาคารสูง ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นฐานสูงเท่ากับกำแพงพระบรมมหาราชวัง ชั้นบนเป็นอาคารทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทอดยาวไปตามกำแพง ความยาว ๕๕ เมตร หลังคายอดปราสาท แบ่งพื้นที่เป็นท้องพระโรงโถงซึ่งมีมุข ๓ มุข มุขกลางอยู่ตรงยอดปราสาท มุขเหนือและมุขใต้ยาวด้านละ ๗ ห้อง และมีมุขลดลงมา ๑ ชั้น หัวท้ายอีกมุขละ ๒ ห้อง มุขกลางด้านทิศตะวันออกมีระเบียงไม้ต่อยื่นออกไปนอกองค์พระที่นั่ง  เพื่อเป็นที่เสด็จออกสีหบัญชรให้ราษฎรเข้าเฝ้าฯ ในโอกาสพิเศษต่างๆ ซึ่งเป็นการต่อเติมขึ้นในภายหลัง

เสด็จออกสีหบัญชร พระบารมีแผ่ไพศาล 

สำหรับชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นฐานทึบมีบันไดขึ้นสู่ระดับกลางจำนวน ๑๒ ชั้น พื้นที่ระดับนี้เป็นใต้ชั้นต่ำหรือใต้ถุนพระที่นั่ง มีประตูระหว่างช่วงเสาทุกช่อง และมีบันไดขึ้นไปยังชั้นที่ประทับที่มุขกลางด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือและทิศใต้อีกมุขละ ๑๒ ชั้น

  ขณะที่หลังคาเป็นทรงไทยยกยอดปราสาท ตรงมุขกลางเป็นทรงมณฑป ๕ ชั้น ปิดทองประดับกระจก มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสีแดง มีขอบสีเขียว ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เชิงชายลงรัก ปิดทองประดับกระจกสีทอง หน้าบันจำหลักลายเป็นลายกระหนกเครือเถาใบเทศ พระทวารเป็นบานไม้แบบบานเฟี้ยม ตอนล่างทึบ ตอนบนเป็นบานเกล็ด พระบัญชรเป็นบานไม้แบบบานเฟี้ยม เปิดถึงพื้น ตอนล่างทึบ ตอนบนมีบานเกล็ดเป็นบานกระทุ้ง ตอนล่างของพระบัญชรเป็นลูกกรงเหล็กหล่อลวดลายดอกไม้แบบสมัยที่นิยมในรัชกาลที่ ๕ พื้นไม้ขนาดความกว้างต่างๆ กัน ฝ้าเพดานเป็นไม้แผ่นใหญ่ประมาณ ๐.๘๐ เมตร ทาสีชาด ปิดทองลายฉลุ ที่เพดานแขวนโคมไฟที่เรียกว่า อัจกลับ ตลอดทุกห้อง

ส่วนของฝาก่ออิฐฉาบปูน เจาะเป็นช่องรูปโค้งตรงมุขกลางซึ่งเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน พื้นชลาภายนอกปูด้วยหินดินดาน บันไดปูด้วยหินแกรไนท์ เสารับโครงสร้าง หลังคาเป็นเสาปูนกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๗๐ เมตร ตอนล่างและบัวปลายเสาเป็นบัวหัวเสาแบบเสาคอรินเธียน ถือเป็นหนึ่งสถาปัตยกรรมที่งดงามและมีความหมายต่อการพระราชพิธีที่สำคัญในครั้งนี้

โดยในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เสด็จออกณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เพื่อให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ขณะที่ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีสุทิดา ณ สีหบัญชรพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทเช่นเดียวกัน ในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๖.๓๐ น.

 

 

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,467 วันที่ 5 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562