เสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค 

02 พ.ค. 2562 | 06:35 น.

การเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรานี้เป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญต่อบ้านเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยแสดงให้เห็นแสนยานุภาพของกองทัพและราชอาณาจักร ความยิ่งใหญ่รุ่งเรืองของราชสำนัก และพระบุญญาบารมีของพระมหากษัตริย์

จากข้อมูลของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๒๑ ระบุว่า กระบวนพยุหยาตรา คือ ริ้วกระบวนเสด็จพระราชดำเนินในโอกาสต่างๆ การจัดรูปแบบกระบวนทำเช่นเดียวกันกับกระบวนยุทธ์ในสมัยโบราณประกอบไปด้วย กระบวนแห่หน้าหลังอัญเชิญธง เครื่องสูงซึ่งเป็นเครื่องประดับพระเกียรติยศ เช่น ฉัตร พัดโบก จามร บังแทรก บังสูรย์ และกลด กระบวนศัสตราวุธ กระบวนช้าง และกระบวนม้า โดยหากเป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางบกเรียกว่า กระบวนพยุหยาตราสถลมารค ส่วนกระบวนพยุหยาตราชลมารคก็คือการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ ประกอบด้วยริ้วกระบวนเรือที่สวยงามตระการตา

เสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค 

กระบวนพยุหยาตราสถลมารค เป็นราชประเพณีสำคัญของไทยที่ถือปฏิบัติและได้รับการสืบทอดมาตั้งแต่โบราณจวบจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ กระบวนพยุหยาตราอาจจัดขึ้นในคราวเสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์ หรือในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีหรือโอกาสสำคัญของบ้านเมือง เช่น เสด็จพระราชดำเนินไปในการศึก เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาท เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

จากข้อมูลของหนังสือชุดภาพกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ขยายความถึงพระราชพิธีดังกล่าวว่า ตามหลักฐานแต่ครั้งโบราณ การจัดกระบวนแห่เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร จัดเป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างมโหฬารเพียบพร้อมด้วยกำลังทหารเหล่าต่างๆ แห่นำและตามเสด็จองค์พระมหากษัตริย์ การจัดกระบวนพระบรมราชอิสริยยศที่อึงมี่ด้วยเสียงประโคม กลองชนะ แตร สังข์

ซึ่งการจัดกระบวนพยุหยาตราถือเป็นองค์ความรู้และมรดกภูมิปัญญาของชาติที่สำคัญและมีคุณค่ายิ่ง ดังจะเห็นว่ามีการบันทึกและถ่ายทอดองค์ความรู้นี้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น การเขียนภาพริ้วกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคบนผนังอุโบสถ วัดยมในสมัยอยุธยา ซึ่งต่อมามีผู้คัดจำลองภาพเขียนนี้ลงในสมุดภาพ การจดบันทึกรายละเอียดกระบวนพยุหยาตราเพชรพวงในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชลงในสมุดไทยหรือการเขียนภาพพร้อมจารึกข้อความแสดงรายละเอียดริ้วกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารคประดับที่พระระเบียงรอบพระเจดีย์ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในสมัยรัชกาลที่  ๓ ทั้งนี้นอกจากในรูปแบบจิตรกรรมยังมีการถ่ายทอดผ่านรูปแบบวรรณคดีด้วย เช่น วรรณคดีเรื่องลิลิตกระบวนพยุหยาตราเพชรพวง ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) และลิลิตกระบวนพยุหยาตราสถลมารคและชลมารค พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ ๑ บันทึกการเสด็จเลียบพระนครไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ ครั้งที่ทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตำรา การเสด็จฯ ครั้งนั้นทรงให้ยาตรากระบวนแห่ทักษิณาวัตรรอบพระบรมมหาราชวัง มิได้หยุดกระบวน ณ ที่ใด สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการกระทำเช่นเดียวกับที่เคยในสมัยอยุธยา ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทรงให้มีการเสด็จเลียบพระนคร โดยทรงเสด็จฯ ออกทางประตูวิเศษไชยศรี เลี้ยวที่ป้อมเผด็จดัสกร แล้วตรงไปจนถึงสะพานข้ามคลองตลาด เลี้ยวกลับขึ้นทางกำแพงพระนคร เข้าถนนหน้าวังที่ท่าพระ เลี้ยวกลับเข้าพระบรมมหาราชวังทางประตูเดิม

​ สมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกระบวนแห่เลียบพระนครเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ สมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เทียบกระบวนหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนนมัสการและถวายดอกไม้เงิน-ทอง บูชาพระรัตนตรัย เมื่อถึงรัชกาลนี้ การจัดกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคก็ได้เน้นไปทางโบราณราชประเพณีมากกว่าเป็นการแสดงแสนยานุภาพแล้ว เนื่องจากในขณะนั้นประเทศสยามตกอยู่ในวงล้อมของลัทธิจักรวรรดินิยม การศึกสงครามได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการรบสมัยใหม่มากขึ้นแล้ว สมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีเสด็จเลียบพระนครเช่นเดียวกับในรัชกาลที่ผ่านมา

เสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค 

ขณะที่รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเส้นทางยาตรากระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) สถลมารคเลียบพระนครใหม่ เป็นออกจากพระบรม มหาราชวัง ไปตามถนนหน้าพระธาตุ ถนนราชินี หยุดกระบวน ณ พลับพลาท้องสนามหลวง เสด็จขึ้นประทับพลับพลาให้พ่อค้า ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) สถลมารคไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามโดยสถลวิถีเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในรัชกาลก่อนหน้า

เสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค 

และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้มีการวางหลักเกณฑ์การจัดกระบวนสำหรับเสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตราขึ้นใหม่ โดยแบ่งเป็น ๙ กระบวนคือ กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ๔ กระบวน และกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ๕ กระบวน กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ๔ กระบวน ประกอบด้วย กระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) สถลมารค กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) สถลมารค กระบวนราบใหญ่ และกระบวนราบน้อย ส่วนกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ๕ กระบวน ประกอบด้วยกระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) ชลมารค กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) ชลมารค กระบวนราบใหญ่ทางเรือ กระบวนราบน้อยทางเรือ และกระบวนราบย่อ

​ และในรัชกาลที่ ๙ ไม่มีการเสด็จเลียบพระนครคราวบรมราชาภิเษกมีแต่ จัดเป็นกระบวนราบใหญ่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินจากเกยหน้าพระทวารเทเวศร์รักษา พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไปประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และถวายบังคมพระบรมรูปที่ปราสาทพระเทพบิดร จนกระทั่งลุมาถึงใน พ.ศ. ๒๕๐๖ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) สถลมารคจากพระบรมมหาราชวังไปถวายเครื่องสักการะบูชาปูชนียวัตถุสำคัญที่วัดบวรนิเวศวิหารเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ 

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒๕๖๒ เส้นทางเริ่มจากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ผ่านประตูพิมานไชยศรี ประตูวิเศษไชยศรีในพระบรมมหาราชวัง แล้วเลี้ยวขวาที่หน้าประตูวิเศษไชยศรีเข้าถนนหน้าพระลาน เลี้ยวซ้ายแยกศาลหลักเมืองมุ่งหน้าสู่ถนนราชดำเนินใน ต่อจากนั้นเลี้ยวขวาที่หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ เข้าสู่ถนนราชดำเนินกลาง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนตะนาว เข้าวัดบวรนิเวศวิหาร จากนั้นเสด็จออกจากวัด เข้าถนนพระสุเมรุ เลี้ยวขวาแยกผ่านฟ้าเข้าสู่ถนนราชดำเนินกลาง แล้วเลี้ยวซ้ายที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เข้าถนนอัษฎางค์ เลียบคลองหลอด สู่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร จากนั้นเสด็จออกจากวัดราชบพิธฯ เข้าสู่แยกวงเวียน นรด. เข้าถนนท้ายวัง เสด็จเข้าสู่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร จากนั้นเสด็จออกจากวัดพระเชตุพนฯเข้าสู่ถนนท้ายวัง เลี้ยวขวาที่ถนนมหาราช แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนหน้าพระลาน เพื่อเข้าประตูวิเศษไชยศรีตามเดิม ใช้ระยะทางรวม ๗ กิโลเมตร

เสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค 

ถือได้ว่าการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยทางสถลมารคเป็นพระราชพิธีหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ปฏิบัติกันมาเป็นโบราณราชพิธี ความมุ่งหมายสำคัญของการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครก็คือเพื่อให้พสกนิกรที่ไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าฯในการพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวังได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯชมพระบารมีและมีโอกาสแสดงความจงรักภักดีแด่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

 

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,465 วันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562