พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

08 เม.ย. 2562 | 10:19 น.

การสืบราชสันตติวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลของสยามเริ่มใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๐๓ เมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต พระราชอนุชาจะทรงสืบราชสมบัติ หากไม่มีก็จะตกเป็นของพระราชโอรส “ราชาภิเษก มาจากคำว่า ราช [รา-ชะ] กับ อภิเษก หมายถึงพระราชพิธีในการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์” 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

ตำราราชาภิเษกที่มีมาแต่โบราณกล่าวไว้ว่า ราชาภิเษกมีลักษณะ ๕ ประการ คือ ๑. มงคลอินทราภิเษก ๒. มงคลโภคาภิเษก ๓. มงคลปราบดาภิเษก  ๔. มงคลราชาภิเษก และ ๕. มงคลอุภิเษก  เรียกว่า ปัญจราชาภิเษก  ในประเทศไทยเรา คำที่ได้ยินเสมอๆ คือ ราชาภิเษกและปราบดาภิเษก เช่น ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา มีข้อความเล่าถึงแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ตอนหนึ่งว่า “มีพระราชโองการตรัสสั่งพระมหาราชครูพระครูบุริโสดมพรหมพฤฒาจารย์ ให้จัดแจงการพระราชพิธีราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร” และเล่าถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ตอนหนึ่งว่า “ถึงวันศุภวารดิถีพิชัยมงคลมหามหุติฤกษ์ จึงกระทำการพิธีปราบดาภิเษก” 

 

ความเป็นมา

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นราชประเพณีที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยได้รับอิทธิพลมาจากคติอินเดีย  แต่ลักษณะการพระราชพิธีแต่เดิมมีแบบแผนเป็นอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แม้แต่การเรียกชื่อก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละสมัย เช่น สมัยอยุธยา-สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เรียกว่า “พระราชพิธีราชาภิเษก” หรือ “พิธีราชาภิเษก” สำหรับในปัจจุบันเรียกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

  จากข้อมูลจุลสารการจัดองค์ความรู้ สำนักพระราชวัง กล่าวถึง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ พระราชพิธีที่แสดงความสมบูรณ์แห่งพระมหากษัตริย์ตามที่กำหนดในโบราณราชประเพณี เป็นแบบอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

  ด้านข้อมูลของคณะกรรมการเฉพาะกิจจัดทำคำอธิบายราชาศัพท์เพื่อเผยแพร่ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ขยายความถึงความหมายของคำว่า ราชาภิเษก ได้อย่างน่าสนใจว่า ราชาภิเษก มาจากคำว่า ราช  (รา – ชะ) กับ อภิเษก หมายถึงพระราชพิธีในการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ขณะที่คำว่า อภิเษก มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การรดอันยิ่งใหญ่ ใช้หมายถึงแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำมีปรากฏในจารึกสมัยสุโขทัย 

  ขณะที่ข้อมูลจาก พระลาน (www.phralan.in.th) สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ ได้ให้องค์ความรู้ด้านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไปในทิศทางเดียวกันว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นโบราณราชประเพณีที่ต้องทำเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ ดังความใน “จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ว่า 

“...ตามราชประเพณีในสยามประเทศนี้ ถือเปนตำราแต่โบราณว่า พระมหากระษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพ ต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อน จึงจะเปนพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ ถ้ายังมิได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ตราบใด ถึงจะได้ทรงรับรัชทายาทเมื่อเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระราชวังหลวง ก็เสด็จอยู่เพียงณ ที่พักแห่งหนึ่ง พระนามที่ขานก็คงใช้พระนามเดิม เปนแต่เพิ่มคำว่า “ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” เข้าข้างท้ายพระนาม แลคำรับสั่งก็ยังไม่ใช้พระราชโองการ จนกว่าจะได้สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระบรมราชนามาภิธัยกับทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์จากพระมหาราชครูพราหมณ์ผู้ทำพิธีราชาภิเษกแล้ว จึงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร ครอบครองสิริราชสมบัติสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศแห่งพระราชามหากระษัตริย์แต่นั้นไป...”

กล่าวโดยสรุปได้ว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีสำคัญที่แสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์  ซึ่งลำดับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีหลักฐานปรากฏขั้นตอนลำดับการพระราชพิธีชัดเจนในสมัยรัตนโกสินทร์แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ การเตรียมพระราชพิธี พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย โดยขั้นตอนและรายละเอียดของการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามกาลสมัยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

พระราชพิธีเบื้องต้น

สำหรับการเตรียมพระราชพิธีเบื้องต้นมีการทำพิธีตักน้ำและที่ตั้งสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก จารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร เตรียมตั้งเครื่องบรมราชาภิเษก และเตรียมสถานที่จัดพระราชพิธี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

 

การเตรียมนํ้าอภิเษกและนํ้าสรงพระมุรธาภิเษก

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีหลักฐานปรากฏที่สำคัญถึงขั้นตอนลำดับการพระราชพิธีชัดเจนในสมัยรัตนโกสินทร์ แบ่งเป็น ๔ ขั้นตอน นั้น จะขอยกขั้นตอนพระราชพิธีเบื้องต้นมานำเสนอก่อน ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็คือ  ขั้นตอนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสรงมุรธาภิเษก (การสรงน้ำเหนือพระเศียร) ในวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษก เพื่อทรงประกาศพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ซึ่งการสรงน้ำมุรธาภิเษกนั้นถือว่าเป็นวินาทีที่เปลี่ยนพระราชสถานะสู่ความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ

  แต่เดิมในเช้าวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนหน้านี้ ตามหลักฐานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมายังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เมื่อทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้วพระราชครูจะกราบบังคมทูลเชิญเสด็จสู่พระมุรธาภิเษกสนาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผ้าและฉลองพระองค์ครุยขาวขลิบทองแผ่ลวดซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์...โดยใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่จะใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ ๑.น้ำสรงมุรธาภิเษก คือ น้ำที่สรงตั้งแต่พระเศียรลงมาทั่วทั้งพระวรกาย และ ๒.น้ำอภิเษก สรงเฉพาะพระวรกาย ซึ่งน้ำทั้ง ๒ อย่างที่จะใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้มีแหล่งที่มาต่างกัน

  จากข้อมูลของคณะกรรมการเฉพาะกิจจัดทำคำอธิบายราชาศัพท์เพื่อเผยแพร่ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ขยายความถึงความหมายของ น้ำสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากแหล่งน้ำสำคัญ ในสมัยอยุธยาใช้น้ำจากสระสำคัญ ๔ สระในแขวงเมืองสุพรรณบุรี ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการเพิ่มน้ำจากแม่น้ำสำคัญของประเทศอีก ๕ สาย เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา”

ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เพิ่มน้ำจากแม่น้ำ 5 สายในประเทศอินเดีย ซึ่งเรียกว่า “ปัญจมหานาที” ถัดมาในรัชกาลที่ ๖ เมื่อมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช  พ.ศ. ๒๔๕๔ มีการเพิ่มน้ำที่ตักจากแม่น้ำและแหล่งน้ำอื่นๆ ตามมณฑลต่างๆ ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคล โดยทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดียสถาน สำคัญ ๗ แห่ง และวัดสำคัญในมณฑลต่างๆ ๑๐ มณฑล จากนั้นในรัชกาลที่ ๗ มีการทำพิธีเสกน้ำเพิ่มจากที่ทำในรัชกาลที่ ๖ อีกแห่งหนึ่ง คือที่พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ ล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๙ มีการทำพิธีเสกน้ำ ๑๘ แห่งเท่าสมัยรัชกาลที่ ๗ แต่เปลี่ยนสถานที่จากเดิม ๒ แห่งคือเปลี่ยนจากวัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์และพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ เป็นบึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด และพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

สำหรับความหมายของ เบญจสุทธคงคา คือ แม่น้ำที่บริสุทธิ์ ๕ สาย อนุโลมว่าเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับปัญจมหานทีในประเทศอินเดีย แม่น้ำ ๕ สายดังกล่าวได้แก่ ๑.แม่น้ำบางปะกง ตักน้ำที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก ๒. แม่น้ำป่าสัก ตักน้ำที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี ๓.แม่น้ำเจ้าพระยา ตักน้ำที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง ๔. แม่น้ำราชบุรี ตักน้ำที่ตำบลดาวดึงส์แขวงเมืองสมุทรสงคราม และ ๕. แม่น้ำเพชรบุรี ตักน้ำที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี ขณะที่ความหมายของปัญจมหานที แปลว่า แม่น้ำอันยิ่งใหญ่ ๕ สาย ได้แก่ แม่น้ำ ๕ สายในชมพูทวีป คือ แม่น้ำคงคา, ยมนา, มหี, อจิรวดี และสรภูเชื่อกันว่าแม่น้ำทั้ง ๕ นี้ไหลมาจากเขาไกรลาส  ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอิศวร น้ำจากแม่น้ำดังกล่าวจึงศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ตลอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแต่ไม่ได้ระบุว่าใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

  ซึ่งน้ำที่ควรใช้เป็นน้ำพระมุรธาภิเษก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในแถลงเรื่องขอมดำดินว่า 

“ตามคัมภีร์ พิธีไสยศาสตร์...น้ำที่ควรใช้เป็นน้ำมุรธาภิเษกนั้น ต้องนำมาจากห้วงน้ำล้วนแต่ที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ น้ำในที่มี สวัสดิมงคล แห่งใดๆ ในแว่นแคว้นพระราชอาณาจักรของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ก็ต้องนำมาถวายเป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกด้วย เพราะฉะนั้นจึงมีพระราชกำหนดบังคับไว้ให้หัวเมืองซึ่งเป็นข้าขัณฑสีมา ส่งน้ำอันมีสวัสดิมงคล มาถวายสำหรับสรงมุรธาภิเษกเป็นสำคัญ ในความยินยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาด้วย” 

ในเมื่อน้ำที่ใช้เป็นน้ำพระมุรธาภิเษกควรเป็นน้ำอันมีสวัสดิมงคล จากแหล่งต่างๆ ในพระราชอาณาจักร ตั้งแต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๔  เป็นต้นมาน้ำพระมุรธาภิเษกจึงมิได้ใช้เพียงน้ำเบญจสุทธคงคา น้ำในสระทั้ง ๔ ที่เมืองสุพรรณบุรีและน้ำปัญจมหานทีในชมพูทวีป แต่ได้ใช้น้ำอันมีสวัสดิมงคลจากทั่วพระราชอาณาจักรด้วย

 

พลีกรรมตักนํ้าจากแหล่งนํ้าศักดิ์สิทธิ์

พิธีพลีกรรมตักน้ำถือเป็นพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ตามความเชื่อที่ว่า “สิ่งต่างๆบนโลกใบนี้ล้วนมีเทวดา เป็นผู้ปกป้องรักษาอยู่ การกระทำสิ่งใดๆ จำเป็นต้องขออนุญาตเทวดาที่ดูแลรักษาสิ่งนั้นๆ” โดยตามหมายกำหนดการ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๕๖๒ กำหนดขึ้นในวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๒  

 

การเตรียมนํ้าอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒๕๖๒

แหล่งน้ำที่ใช้สำหรับการเตรียมน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ในพระราชพิธี บรมราชาภิเษก ๒๕๖๒ ได้แก่ น้ำสรงพระมุรธาภิเษก ประกอบด้วย เบญจสุทธคงคาและน้ำจากสระ ๔ สระ ในจังหวัดสุพรรณบุรี ขณะที่ น้ำอภิเษก ประกอบด้วย น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จากกรุงเทพฯ และน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก ๗๖ จังหวัด รวมแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒๕๖๒  จำนวน ๑๑๗ แหล่ง

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

สำหรับหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐  นี้จะเริ่มพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยจะทำพิธีพร้อมกันในวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๑.๕๒-๑๒.๓๘ น. ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการใช้น้ำจากทั่วประเทศทั้ง ๗๗ จังหวัด รวม ๑๑๗  แหล่งน้ำ เพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศในพิธีมหามงคลของแผ่นดินในครั้งนี้ โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำน้ำอภิเษก หลังจากนั้นวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๗.๐๐ น.ประธานสงฆ์ประกาศชุมนุมเทวดาในการทำพิธีทำน้ำอภิเษก และเวลา ๑๗.๑๐-๒๒.๐๐ น. จุดเทียนชัยเจริญพระพุทธมนต์  วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น.ดับเทียนชัยเลี้ยงพระจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญ ๗๖ จังหวัด เวลา ๑๒.๐๐ น. เวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก 

 

แหล่งที่มานํ้าสรงพระมุรธาภิเษก 

น้ำสรงพระมุรธาภิเษก  นี้จะยึดตามโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มาจาก 9 แหล่งน้ำ คือ น้ำจากสระ 4 สระเมืองสุพรรณ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ประกอบด้วย 1.สระเกษ 2.สระแก้ว 3.สระคา 4.สระยมนา และ น้ำเบญจสุทธคงคา หรือแม่น้ำบริสุทธิ์ทั้ง ๕ สาย ประกอบด้วย ๑.แม่น้ำบางปะกง ตักที่ตำบลพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ๒.แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ๓.แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ๔.แม่น้ำราชบุรี ตักที่บริเวณสามแยกคลองหน้าวัดดาวดึงษ์ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ๕.แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่บริเวณท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ ตำบลสมอพลือ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

 

แหล่งที่มานํ้าอภิเษก

ส่วนน้ำอภิเษกในพระราชพิธีครั้งนี้มาจากแหล่งน้ำ ๑๐๘ แหล่ง จากทั่วประเทศ 

จังหวัดที่มีจำนวน ๑ แหล่งน้ำ มีจำนวน ๖๐ จังหวัด ๖๐ แหล่งน้ำ ดังนี้  กรุงเทพมหานคร ได้แก่ น้ำในหอศาสตราคม ภายในพระบรมมหาราชวัง  จ.กระบี่ ได้แก่ วังเทวดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ได้แก่ แม่น้ำสามประสบ อ.สังขละบุรี  จ.กาฬสินธุ์ ได้แก่ กุดน้ำกิน อ.เมือง  จ.กำแพงเพชร ได้แก่ บ่อสามเสน อ.เมือง  จ.ขอนแก่น ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (บาราย) วัดกู่ประภาชัย อ.น้ำพอง  ฉะเชิงเทรา ได้แก่ ปากน้ำโจ้โล้ หรือคลองท่าลาด อ.บางคล้า  จ.ชลบุรี ได้แก่ สระเจ้าคุณเฒ่า วัดเขาบางทราย อ.เมือง  จ.ชัยนาท ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวัดธรรมามูลวรวิหาร อ.เมือง   จ.ชุมพร ได้แก่ บ่อน้ำทิพย์ถ้ำเขาพลู หรือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ถ้ำเขาพลู อ.ปะทิว  จ.เชียงราย ได้แก่ บ่อน้ำทิพย์ อ.แม่สาย    จ.ตรัง ได้แก่ แม่น้ำตรัง บริเวณหน้าท่าน้ำ วัดประสิทธิชัย อ.เมือง  จ. ตราด ได้แก่ น้ำตกธารมะยม อ.เกาะช้าง  จ. ตาก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา  จ.นครปฐม ได้แก่ สระน้ำจันทร์ หรือสระบัว อ.เมือง  จ.นครพนม ได้แก่ สระน้ำมุรธาภิเษก หรือบ่อน้ำพระอินทร์ อ.ธาตุพนม  จ. นครราชสีมา ได้แก่ ต้นน้ำลำตะคอง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง  จ.นครสวรรค์ ได้แก่ บึงบอระเพ็ด อ.เมือง  จ.นนทบุรี ได้แก่ กลางแม่น้ำเจ้าพระยา เบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร อ.เมือง  จ.น่าน ได้แก่ บ่อน้ำทิพย์วัดสวนตาล อ.เมือง  จ.บุรีรัมย์ ได้แก่ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดกลาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวัดศาลเจ้า อ.เมือง  จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือบ่อน้ำทิพย์ อ.บางสะพาน  จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ น้ำภายในพระเศียรหลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์ และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดตูม อ.พระนครศรีอยุธยา  จ.พังงา ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ถ้ำน้ำผุด อ.เมือง  จ.พิจิตร ได้แก่ แม่น้ำน่าน บริเวณหน้าพระอุโบสถวัดท่าหลวง อ.เมือง  จ.พิษณุโลก ได้แก่ สระสองห้อง อ.เมือง  จ. เพชรบุรี ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี ท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ อ.บ้านลาด  จ.ภูเก็ต ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดไชยธาราราม อ.เมือง  จ.มหาสารคาม ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือหนองดูน อ.นาดูน  จ.มุกดาหาร ได้แก่ น้ำตกศักดิ์สิทธิ์ อ.คำชะอี  จ.แม่ฮ่องสอน ได้แก่ถ้ำปลา อ.เมือง  จ.ยโสธร ได้แก่ ท่าคำทอง อ.เมือง  จ.ยะลา ได้แก่ สระแก้ว สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ อ.เมือง  จ.ร้อยเอ็ด ได้แก่ สระชัยมงคล อ.เมือง  จ.ระนอง ได้แก่ บ่อน้ำพุร้อนรักษะวาริน อ.เมือง  จ.ระยอง ได้แก่ วังสามพญา อ.บ้านค่าย  จ.ราชบุรี ได้แก่ สระโกสินารายณ์ อ.บ้านโป่ง  จ.ลพบุรี ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ อ.เมือง  จ.ลำปาง ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือบ่อน้ำเลี้ยงพระนางจามเทวี อ.เกาะคา  จ. ลำพูน ได้แก่ ดอยขะม้อ บ่อน้ำทิพย์ อ.เมือง  จ.เลย ได้แก่ น้ำจากถ้ำเพียงดิน อ.เมือง  จ.สุรินทร์ ได้แก่ สระโบราณ อ.เมือง  จ.หนองคาย ได้แก่ สระมุจลินท์ หรือสระพญานาค อ.เมือง  จ.หนองบัวลำภู ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดศรีคูณเมือง อ.เมือง  จ.อ่างทอง ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพระอุโบสถวัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย  จ.อำนาจเจริญ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน หรืออ่างเก็บน้ำห้วยปลาแดก อ.เมือง   จ.อุดรธานี ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ คำชะโนด อ.บ้านดุง    จ.อุตรดิตถ์ ได้แก่ บ่อน้ำทิพย์ อ.ลับแล  จ.อุบลราชธานี ได้แก่ บ่อน้ำโจ้ก อ.วารินชำราบ  จ.ศรีสะเกษ ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ปราสาทสระกำแพงน้อย อ.อุทุมพรพิสัย  จ.สกลนคร ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ภูน้ำลอด อ.เมือง  จ.สงขลา ได้แก่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดแหลมบ่อท่อ อ.กระแสสินธุ์   จ.สตูล ได้แก่ บ่อน้ำพุร้อนทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง  จ.สมุทรปราการ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าองค์พระสมุทรเจดีย์ อ.พระสมุทรเจดีย์  จ.สมุทรสงคราม ได้แก่ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์คลองดาวดึงษ์ อ.อัมพวา  จ.สมุทรสาคร ได้แก่ แหล่งน้ำคลองดำเนินสะดวก อ.บ้านแพ้ว  จ.สระแก้ว ได้แก่ สระแก้ว-สระขวัญ อ.เมือง  จ.สระบุรี ได้แก่ แม่น้ำป่าสัก บริเวณบ้านท่าราบ อ.เสาไห้  จ.สิงห์บุรี ได้แก่ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดโพธิ์เก้าต้น อ.ค่ายบางระจัน  จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์พระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร อ.ไชยา

จังหวัดที่มีจำนวน ๒ แหล่งน้ำ มีจำนวน ๗ จังหวัด ๑๔ แหล่งน้ำ ดังนี้   จ.ชัยภูมิ ได้แก่ 1.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดไพรีพินาศ อ.เมือง  ๒ .บ่อน้ำชีผุด แม่น้ำชี อ.หนองบัวแดง  จ.นราธิวาส ได้แก่ ๑.น้ำแบ่ง อ.สุไหงปาดี ๒.น้ำตกสิรินธร อ.แว้ง  จ.บึงกาฬ ได้แก่ ๑.พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง อ.บึงโขงหลง  ๒.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ถ้ำพระ อ.เซกา  จ.ปราจีนบุรี ได้แก่ ๑.บ่อน้ำหน้าโบราณสถานรอยพระพุทธบาทคู่ อ.ศรีมโหสถ ๒.โบราณสถานสระแก้ว อ.ศรีมโหสถ  จ.พะเยา ได้แก่ ๑.ขุนน้ำแม่ปืม อ.แม่ใจ ๒.น้ำตกคะ หรือน้ำคะ อ.ปง   จ.เพชรบูรณ์ ได้แก่ ๑.สระแก้ว อ.ศรีเทพ ๒.สระขวัญ อ.ศรีเทพ  จ.อุทัยธานี ได้แก่ ๑.แม่น้ำสะแกกรัง อ.เมือง ๒.สระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ วัดมณีสถิตกปิฏฐาราม อ.เมือง

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

จังหวัดที่มีจำนวน ๓ แหล่งน้ำ มีจำนวน ๕ จังหวัด ๑๕  แหล่งน้ำ ดังนี้   จ.จันทบุรี ได้แก่ ๑.สระแก้ว อ.ท่าใหม่ ๒.ธารนารายณ์ อ.เมือง ๓. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดพลับ อ.เมือง  จ. เชียงใหม่ ได้แก่ ๑.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดบุพพาราม อ.เมือง ๒.อ่างกาหลวง อ.จอมทอง ๓.ขุนน้ำแม่ปิง อ.เชียงดาว  จ.นครนายก ได้แก่ ๑.เขื่อนขุนด่านปราการชล อ.เมือง ๒.บ่อน้ำทิพย์เมืองโบราณดงละคร อ.เมือง ๓.บึงพระอาจารย์ อ.เมือง  พัทลุง ได้แก่ ๑.สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดดอนศาลา อ.ควนขนุน ๒.ถ้ำน้ำบนหุบเขาชัยบุรี อ.เมือง ๓.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์พระบรมธาตุเขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน  จ.สุโขทัย ได้แก่ ๑.บ่อแก้ว อ.ศรีสัชนาลัย ๒.บ่อทอง อ.ศรีสัชนาลัย ๓.ตระพังทอง อ.เมือง

จังหวัดที่มีจำนวน ๔ แหล่งน้ำ มีจำนวน ๓ จังหวัด ๑๒ แหล่งน้ำ ดังนี้     จ.ปัตตานี ได้แก่ ๑.น้ำสระวังพรายบัว อ.หนองจิก ๒.บ่อทอง หรือบ่อช่างขุด อ.หนองจิก ๓.บ่อไชย อ.หนองจิก ๔.น้ำบ่อฤษี อ.หนองจิก  จ.สุพรรณบุรี ได้แก่ ๑.สระแก้ว อ.เมือง ๒.สระคา อ.เมือง ๓.สระยมนา อ.เมือง  ๔.สระเกษ อ.เมือง  จ.แพร่ ได้แก่ ๑.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ลำน้ำแม่คำมี อ.เมือง ๒.บ่อน้ำวัดบ้านนันทาราม อ.เมือง ๓.บ่อน้ำพระฤาษี อ.วังชิ้น ๔.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดพระหลวง อ.สูงเม่น

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

จังหวัดที่มีจำนวน ๖ แหล่งน้ำ มีจำนวน ๑ จังหวัด ๖ แหล่งน้ำ ดังนี้   จ.นครศรีธรรมราช ได้แก่ ๑.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดหน้าพระลาน อ.เมือง ๒.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดเสมาเมือง อ.เมือง ๓.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดเสมาไชย อ.เมือง ๔.บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดประตูขาว อ.เมือง ๕.แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ห้วยเขามหาชัย อ.เมือง และ ๖.แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ห้วยปากนาคราช อ.ลานสกา

หน้า 21-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,459 วันที่ 7 - 10 เมษายน พ.ศ. 2562