"นุ่งโจง ห่มสไบ" รู้ประวัติศาสตร์ @บ้านบางระจัน

03 มี.ค. 2562 | 03:25 น.

หนึ่งเมืองยุทธศาสตร์สำหรับการทำศึกสงครามในสมัยอยุธยา หนึ่งเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่ยกย่องวีรกรรมอันกล้าหาญของชาวบ้านผู้ไม่ยอมศิโรราบต่ออริศัตรู และหนึ่งชุมชนของภาคกลางที่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญในปัจจุบัน "อนุสาวรีย์วีรชนและอุทยานค่ายบางระจัน"

พื้นที่ชุมชนแห่งนี้ เปี่ยมไปด้วยหยาดเหงื่อ หยดเลือด และคราบนํ้าตา ในการรักษาอธิปไตยความเป็นไทยจนลมหายใจสุดท้าย ซึ่งความกล้าหาญของชาวบ้านบางระจันได้ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่า เมื่อเดือน 3 ปีระกา พ.ศ. 2308 ชาวบ้านได้ร่วมกันสู้รบกับกองทัพพม่าจำนวนมหาศาลอย่างไม่ย่อท้อ จนทำให้กองทหารพม่าต้องยกทัพเข้าตีบ้านบางระจันถึง 8 ครั้ง และใช้เวลานานถึง 5 เดือน แม้ในที่สุด กองกำลังของชาวบ้านมิอาจต้านทานกองทัพพม่าในครั้งนี้ได้ แต่ก็นับว่า นี่คือ วีรกรรมอันยิ่งใหญ่ที่ชาวบางระจันยอมสละชีพเพื่อรักษาผืนแผ่นดินไทย

 

"นุ่งโจง ห่มสไบ" รู้ประวัติศาสตร์ @บ้านบางระจัน


ด้วยความสำคัญดังกล่าวและเพื่อระลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญ รวมทั้งมองถึงการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของอนุชนรุ่นหลัง จึงได้จัดสร้างอนุสาวรีย์วีรชนและอุทยานค่ายบางระจันขึ้น โดยกรมศิลปากรจัดทำออกมาในรูปแบบรูปหล่อประติมากรรมของหัวหน้าชาวค่ายบางระจันทั้ง 11 คน ประกอบด้วย นายจันหนวดเขี้ยว นายโชติ นายดอก นายทองแก้ว นายทองเหม็น นายทองแสงใหญ่ นายแท่น นายเมือง พันเรือง ขุนสรรค์ และนายอิน ตั้งอยู่กลางสวนอันร่มรื่น พร้อมปักหมุดเป็นสถานที่รวมใจและพักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนชาวไทยทุกคน

อย่างไรก็ดี นอกจากอนุสาวรีย์ฯ สถานที่แห่งนี้ยังได้สร้างอาคารศูนย์การศึกษาประวัติศาสตร์ โดยมีการจัดนิทรรศการที่น่าสนใจหลากหลายเรื่องราว เช่น ชีวประวัติบุคคลวีรชนบ้านบางระจัน จัดแสดงภาพจำลองค่ายบางระจัน รวมทั้งรายละเอียดเส้นทางการเดินทัพของพม่า และห้องจัดแสดงอาวุธและเครื่องใช้โบราณ เช่น ไหสี่หู กานํ้า ขวานถาก รวมทั้งจัดแสดง "สิงห์บุรีในอดีต" ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และจัดแสดงภาพจำลองวัฒนธรรมลุ่มแม่นํ้า โดยแบ่งพื้นที่ห้องแบ่งจัดทำทางเดินเป็นเสมือนสะพานทอดกลับไปชมวิถีชีวิตแบบสมัยก่อนริมฝั่งแม่นํ้า เป็นต้น

อนุสาวรีย์วีรชนและอุทยานค่ายบางระจัน ตั้งอยู่ที่ ต.บางระจัน อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. นับเป็นหนึ่งสถานที่ที่สามารถจัด One Day Trip ได้อย่างเหมาะสม อีกนัยยังได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ ความกล้าหาญ กว่าจะได้มาซึ่งแผ่นดินไทยมาจนถึงวันนี้ และไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมจังหวัดแห่งนี้ยังเคยได้รับเลือกให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

 

"นุ่งโจง ห่มสไบ" รู้ประวัติศาสตร์ @บ้านบางระจัน


ทั้งนี้ ร่องรอยทางประวัติศาสตร์อีกหนึ่งสิ่งที่งดงาม คือ การไหลเททางวัฒนธรรม โดยกลุ่มไทยพวนและลาวพวนถือเป็นหนึ่งกลุ่มชนที่ได้เข้ามาพำนักอาศัยอยู่ใน จ.สิงห์บุรี  ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แม้หลากหลายพื้นที่ใกล้เคียงจะกลมกลืนไปกับชาวไทยพื้นถิ่น แต่ที่ ต.บางนํ้าเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ได้รักษาเอกลักษณ์ดังกล่าวไว้ผ่านการจัดตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยพวน โดยจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาเครื่องมือการเกษตรและของเครื่องใช้ในอดีต รวมทั้งประเพณีที่สำคัญของชาวไทยพวน เป็นต้น

อีกหนึ่งกลุ่มชนที่เข้ามาพำนักอาศัยใน จ.สิงห์บุรี เช่นกัน คือ ชุมชนลาวแง้ว บ้านทองเอน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี โดยชาติพันธุ์ดังกล่าวอพยพมาครั้งสงครามศึกเจ้าอนุวงศ์ ปัจจุบันเป็นชุมชนสำหรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผสมระหว่างชาวไทยและชาวลาวที่สำคัญของจังหวัด ซึ่งสะท้อนผ่านกลิ่นอายความเป็นอัตลักษณ์ด้วยภาษาถิ่นที่หาฟังยาก การดำเนินชีวิต อาหารพื้นเมือง และประเพณีต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้นชาวบ้านในชุมชนร่วมกันพัฒนาให้เกิดเป็นเศรษฐกิจท่องเที่ยวผ่านการบริการรถรางสำหรับชมสถานที่ต่าง ๆ เช่น ต้นจำปาร้อยปี ไหว้หลวงพ่อดีศักดิ์สิทธิ์ ที่วัดกลาง ชมเจดีย์ทรงระฆังควํ่า ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ที่วัดไผ่ดำ เป็นต้น

 

"นุ่งโจง ห่มสไบ" รู้ประวัติศาสตร์ @บ้านบางระจัน


เรื่องราวในประวัติศาสตร์กลายเป็นหนึ่งเสน่ห์ที่สำคัญ สำหรับการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ในปัจจุบัน ฉะนั้น นอกจากร่วมกันบำรุงรักษา ควรส่งต่อเรื่องราวที่ดีในอดีตให้กับเยาวชนได้รับทราบด้วยเช่นกัน เพื่อให้การท่องเที่ยวแต่ละครั้งมีความหมายและคุณค่าต่อการสร้างจิตสำนึกรักประเทศไทยไปด้วยกันอย่างมีมิตรสัมพันธ์

หน้า 22-23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่39 ฉบับที่ 3,447 วันที่ 24 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

"นุ่งโจง ห่มสไบ" รู้ประวัติศาสตร์ @บ้านบางระจัน