สีสันเลือกตั้งที่เปลี๊ยนไป๋ ... จากอดีต สู่ยุค 4.0

15 ก.พ. 2562 | 04:29 น.

24 มีนาคม 2562 ดีเดย์วันเลือกตั้ง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้กำหนดออกมาแล้ว ทำให้การสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คึกคักวุ่นวายแบบงง ๆ กับหมายเลขผู้สมัครและพรรคที่ต่างกันไป และเชื่อว่า นับจากนี้สีสันการหาเสียงต้องสนุกสนานคึกคักมากขึ้น ท่ามกลางกฎระเบียบของ กกต. ในครั้งนี้เข้มงวดหยุมหยิมจริง ๆ การคิดค้นกลยุทธ์ต้องแยบยลมากกว่าเดิม ยิ่งมาถูกจำกัดจำเขี่ยการใช้จ่ายเงินก็ต้องหาวิธีใหม่ ๆ กันละ ทุกสิ่งอย่างเรื่องค่าใช้จ่ายก็ต้องรายงาน กกต. ที่ระบุไว้ว่า ผู้สมัครเขตใช้งบหาเสียงได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท/คน ส่วนพรรคการเมืองใช้งบหาเสียงได้ไม่เกิน 35 ล้านบาท/พรรค เรียกว่า น้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด กฎระเบียบถูกโอดครวญจุกจิกจุ๊กจิ๊ก

buf
จากที่ได้พบปะพูดคุยกับเหล่ากูรูคอการเมืองที่บอกเล่าให้ฟังว่า ย้อนกลับไปดูกลยุทธ์การหาเสียงเลือกตั้งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีพัฒนาการกันมามากมาย ในอดีตการหาเสียงเลือกตั้งตามพื้นที่อย่างที่ภาคอีสาน ย้อนหลังไปประมาณ 30 ปี มีนักการเมืองมากมายหลายพรรคใช้กลยุทธ์ การลด แลก แจก แถมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การแจกขัน แจกถังน้ำ แจกปลากระป๋อง แจกปฏิทิน แจกนาฬิกา แจกเงิน ไปจนถึงแจกพระ นี่คือ การหาเสียง ในขณะเดียวกัน หากผู้สมัครมีฐานะหน่อยก็จะแจกเงิน ตั้งแต่หลัก 10 ไปจนถึงหลัก 100 บาท หลัก 1,000 บาท หรือไปจนถึงหลัก 10,000 บาททีเดียว

ที่เห็นชัดมาก ๆ ในสมัยก่อน คือ ในช่วงการเลือกตั้ง ว่าที่ผู้สมัครที่ฐานะดีจะไปตกลงกับร้านค้าในชุมชุน ว่า เวลามีลูกบ้านในเขตเลือกตั้งมาซื้อสินค้าที่ร้านไม่ว่าอะไรก็ตาม ไม่ต้องเก็บเงิน ให้สินค้าไปพร้อมกับเงินส่วนต่าง พร้อมใบแนะนำตัวผู้สมัครในถุงสินค้า หรือ บางพื้นที่มีการแจกเงินแม็กติดไปกับใบแนะนำตัว บางพื้นที่ให้ผู้นำหมู่บ้าน ทำการแจกข้าวสารอาหารแห้ง ปลากระป๋อง มาม่า โอ่ง กระป๋องเก็บน้ำ ส่วนการแจกรองเท้าให้ไปข้างหนึ่งก่อนพอเลือกตั้งเสร็จมารับไปอีกข้างนี่ก็เป็นกลยุทธ์ โบราณ ที่ทำมาตลอดจนถึงปัจจุบัน เป็นต้น

นักการเมืองบางคนเลือกทำพื้นที่อย่างต่อเนื่องผ่านการจัดงาน เกิด แต่ง ตาย ต้องมีส่วนร่วม วันเกิด ส่งดอกไม้อวยพร งานแต่งงานให้น้ำแข็ง หรือ น้ำเปล่าตามโต๊ะ กรณีคนเสียชีวิตจะมีการส่งพวงหรีดเคารพศพไปก่อนตัวพร้อมกับน้ำแข็งไปให้กับเจ้าภาพ


S__136445967

ส่วนการติดตั้งป้ายหาเสียงก็แล้วแต่สไตล์ใครสไตล์มัน ใหญ่เล็กไม่สำคัญจัดทำกันไป ใบปลิวไม่จำกัด ยุคเห่อปริญญารูปป้ายก็ประชันกันในชุดใส่ครุยปริญญาต่าง ๆ มียศถาบรรดาศักดิ์ก็ใส่กันเต็มยศ ร้านทำป้ายก็คึกคักเงินสะพัด มีการทำรูปแบบแปลก ๆ ขี่ควายหาเสียงติดเบอร์ที่ควายก็มีมาแล้ว ทำหุ่นไล่กาติดเบอร์หาเสียงกลางทุ่งนาตามเกาะกลางถนน เป็นต้น แต่วันนี้การจะติดตั้งป้ายต้องรอให้ กกต. ประกาศพื้นที่เสียก่อน หากติดตั้งไปก่อนผิดพื้นที่ ถูกเก็บไป ก็หมายถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป

อดีต ... บางคนนัดหารือแกนนำเพื่อซื้อเสียงผ่านแกนนำชาวบ้านตรง ๆ เลย ว่ากันมาเลยว่า ในหมู่บ้านตัวเองมีผู้มีสิทธิ์กี่คน ว่ากันมาตั้งแต่หัวละ 300-500 บาท แล้วแต่พื้นที่ว่า มีความสำคัญมากแค่ไหน แข่งขันรุนแรงแค่ไหน กรณีการซื้อ แกนนำมีการจัดงบประมาณตั้งแต่ 20,000-30,000 บาทต่อหมู่บ้าน ไปแจกให้กับลูกบ้าน นี่คือ การซื้อยกหมู่บ้าน การซื้อเสียงผ่านนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งจะมีฐานเสียงแน่นอน ดังนั้น ราคาตรงนี้จะมีราคาสูง ตั้งแต่ 50,000-80,000 บาทแต่ละพื้นที่


S__46964741

สำหรับในสถานการณ์ปัจจุบัน การซื้อสิทธิ์ขายเสียงต่างกันออกไป หันมาให้ความสำคัญกับการหาสมาชิกพรรค ไม่ว่าจะเป็น การไล่เก็บบัตรประชาชนเพื่อนำไปลงในฐานสมาชิกของพรรค บัตรประชาชน 1 ใบ มีมูลค่าตั้งแต่ 100-300 บาท ในพื้นที่อีสานมีการไล่เก็บบัตรมากที่สุด นอกจากนี้แล้ว การเดินหาแกนนำชาวบ้านในการซื้อยกหมู่บ้านก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้ง สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็จะเป็นการหาเสียงที่แตกต่างกันออกไป ในพื้นที่จะเน้นจัดให้คนของ ส.ส. ลงพื้นที่เพื่อมอบของกำนัล หรือ การสนับสนุนกิจกรรมชุมชน นอกจากนี้ ก็จะมีการจัดรถรับ-ส่งจากบ้านไปยังหน่วยเลือกตั้ง การให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างส่งผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนในพื้นที่ไปจุดลงคะแนนแบบฟรี ๆ บางพื้นที่ โดยเฉพาะย่านฝั่งธนบุรี มีการเขียนเบอร์ผู้สมัครบางพรรคใส่มือให้กับผู้สูงอายุที่ไปลงคะแนนเสียง ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีคนเคยใช้วิธีนี้ได้ผลมาแล้ว

การเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกที่ผู้สมัครทุกคนต้องมีฐานคะแนนเสียง เนื่องจากการออกแบบตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทุกคะแนนมีค่า ดังนั้น จึงมีหลายพรรคใช้กลยุทธ์ในการไล่เก็บบัตรประชาชนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เป็นกรณีที่น่าศึกษายิ่ง เพราะพรรคการเมืองหนึ่งจากเดิมก่อนที่จะมีการใช้มาตรการเก็บบัตรประชาชนมีฐานสมาชิกเพียง 800,000 คน แต่หลังจากใช้มาตรการเก็บบัตร พบว่า มีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาเป็นหลัก 3 ล้าน ภายใน 2 เดือน จึงมีการสั่งการให้ผู้สมัครดำเนินการ โดยการเก็บบัตรประชาชน คนที่ให้สำเนาบัตรจะได้รับเงินค่าตอบแทนรายละ 100-200 บาท หรือบางพื้นที่อยู่ที่ 50-100 บาท


post1

นี่คือ กลยุทธ์การหาเสียงด้วยการซื้อเสียงที่แยบยลยิ่ง เมื่อต้องมีคะแนนเสียงต้องทำให้คนรู้จักมากขึ้น การใช้ป้ายหาเสียงอย่างบิลบอร์ด ป้ายหาเสียงถูกจำกัดมากขึ้น ก็ใช้ไม่ได้ เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องนำมาคิด การจะให้คนรู้จักมากขึ้น สมัยนี้คือ การหันเข้าหาโลกแห่งโซเชียล อย่าง เฟซบุ๊ก, IG, Line ทำให้ป้ายว่าที่ ส.ส. จึงต้องติด QR Code ไว้ด้วย จึงนับว่าการแข่งขันเลือกตั้งครั้งนี้  เป็นศึกแห่งโลกโซเชียลอย่างแท้จริง จะเลือกใครเป็น ส.ส. ก็คงต้องวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนมากขึ้นเช่นกัน ...

การหาเสียงเลือกตั้งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการก้าวเข้าไปเป็น ส.ส. กลยุทธ์สำคัญที่ว่าที่ผู้สมัครทุกคนสรรหามาใช้ แต่สุดท้ายใครและนโยบายใครจะโดนใจประชาชนมากที่สุด!!

4AD4BFE6-CAEB-4BB0-85F4-9AF8651F8A9A

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว