ยุโรป-มะกันนัดถกดีลTTIP ยื้อเดินหน้าข้อตกลงท่ามกลางการประท้วงในเยอรมนี

24 ก.ย. 2559 | 11:00 น.
สหรัฐฯ และยุโรปกำหนดวันเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีครั้งต่อไปต้นเดือนตุลาคม หลังก่อนหน้านี้มีท่าทีว่าข้อตกลงดังกล่าวจะต้องล้มเลิกไป ขณะที่รัฐมนตรีจาก 12 ประเทศสมาชิกอียูยื่นจดหมายผลักดันให้การเจรจาเดินหน้าต่อไปท่ามกลางการเดินขบวนประท้วงของชาวเยอมันหลายแสนคน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ภายหลังการหารือร่วมกันระหว่างนายไมเคิล โฟรแมน ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และนางซีซิเลีย มาล์มสตรอม กรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะเปิดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) หรือข้อตกลงหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก (ทีทีไอพี) ครั้งต่อไปในวันที่ 3 ตุลาคมที่นิวยอร์ก

"ทั้งสองฝ่ายได้ทบทวนความคืบหน้าที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของข้อตกลงทีพีไอพี และหารือว่าจะเดินหน้าต่อไปเช่นไร เราได้สั่งการให้ทีมงานของเราดำเนินการให้มีความคืบหน้ามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการเจรจารอบต่อไป ซึ่งมีกำหนดในวันที่ 3 ตุลาคมที่นิวยอร์ก" นายโฟรแมนและนางมาล์มสตรอมระบุผ่านแถลงการณ์ร่วมภายหลังการหารือร่วมกัน

ทั้งนี้ เมื่อเดือนก่อนมีกระแสข่าวว่าการเจรจาข้อตกลงทีทีไอพีอาจจะต้องมีอันล้มเลิกไป หลังจากเจ้าหน้าที่ทางการของเยอรมนีและฝรั่งเศสออกมาแสดงท่าทีไม่สนับสนุนข้อตกลงดังกล่าว โดยนายมัทเธียส ฟีเคิล รัฐมนตรีพาณิชย์ของฝรั่งเศส กล่าวว่า จะใช้การประชุมรัฐมนตรีพาณิชย์ของอียูในช่วงปลายเดือนกันยายน ร้องขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปยุติการเจรจาข้อตกลงทีทีไอพี ด้านนายซิกมาร์ กาเบรียล รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี ได้ออกมากล่าวแสดงความเห็นว่า การเจรจาการค้าเสรีระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ นั้นในความเป็นจริงล้มเหลวไปแล้ว

อย่างไรก็ดี เมื่อสัปดาห์ก่อนรัฐมนตรีพาณิชย์จาก 12 ประเทศสมาชิกอียูได้ทำจดหมายยื่นต่อนางมาล์มสตรอม ว่าพร้อมจะสนับสนุนข้อตกลงทีทีไอพี โดยเชื่อว่าเป็นข้อตกลงที่มีความจำเป็นต่อการสร้างงาน และเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปให้ความสำคัญกับการเจรจาหาข้อสรุปในประเด็นที่เหลืออยู่กับทางสหรัฐฯ

"ยุโรปจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้นำที่ชัดเจนในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี ถ้าเราต้องการสร้างการเติบโตที่จำเป็นต่อการรับมือกับความท้าทายในอนาคต" รัฐมนตรีพาณิชย์ทั้ง 12 ประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยสวีเดน ฟินแลนด์ สเปน อิตาลี สหราชอาณาจักร โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก แลตเวีย เอสโตเนีย เดนมาร์ก และลิธัวเนีย กล่าวในจดหมาย พร้อมกับระบุว่าอียูจะต้องผลักดันนโยบายการค้าที่ปกป้องสิทธิของแรงงาน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน

เดิมทีทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุข้อตกลงดังกล่าวให้ได้ก่อนที่นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะหมดวาระลงในช่วงต้นปี 2560 อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอียูยอมรับว่า มีความเป็นไปได้น้อยที่จะมีการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างทั้งสองฝ่ายได้ตามกำหนด

ขณะเดียวกันข้อตกลงทีทีไอพีถูกกระแสคัดค้านอย่างหนักในเยอรมนี โดยเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ชาวเยอรมันกว่า 3 แสนคนใน 7 เมือง อาทิ เบอร์ลิน มิวนิก ฮัมบูร์ก และแฟรงก์เฟิร์ต ได้ออกมารวมตัวเดินขบวนประท้วงข้อตกลงดังกล่าว รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีที่ยุโรปเจรจาร่วมกับแคนาดา (CETA) ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการรอการรับรองจากรัฐสภาและมีกำหนดลงนามในวันที่ 27 ตุลาคม พร้อมกันนี้ยังมีการเดินขบวนประท้วงในลักษณะเดียวกันในออสเตรียและสวีเดน

กลุ่มผู้ประท้วงกล่าวว่า ข้อตกลงทีทีไอพีจะทำให้มาตรฐานด้านอาหารและการรักษาสิ่งแวดล้อมของยุโรปถูกลดระดับลง และเป็นการให้อำนาจกับบริษัทข้ามชาติมากเกินไปจนอาจส่งผลกระทบผู้บริโภคและแรงงานในยุโรป ขณะที่ผู้สนับสนุนเชื่อว่าข้อตกลงจะช่วยลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้านนางอันเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ยังคงมีท่าทีสนับสนุนข้อตกลงทีทีไอพี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559