ห้างสรรพสินค้ามะกันเร่งปรับตัว ปิดร้านค้าผันเงินทุนเสริมทัพออนไลน์-บริการลูกค้า

18 ส.ค. 2559 | 01:00 น.
การประกาศปิดร้านค้า 100 แห่งของเชนร้านค้าปลีก เมซีส์ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ไม่สดใสนักของอนาคตห้างสรรพสินค้าในสหรัฐอเมริกา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมซีส์ เชนค้าปลีกชื่อดังของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เตรียมปิดร้านค้า 100 จากทั้งหมด 728 แห่งในปีหน้า นับเป็นการสะท้อนถึงแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในธุรกิจห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้บริโภค ในขณะที่ร้านค้าปลีกก็จำเป็นต้องมองหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อเจาะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่เดินเข้ามาซื้อสินค้าในร้านค้าลดลง

ขณะเดียวกันแบรนด์สินค้าหรูเริ่มมีการปรับตัวด้วยการลดจำนวนสินค้าที่นำมาวางจำหน่ายผ่านห้างสรรพสินค้าและร้านค้าลง โค้ช ผู้ผลิตกระเป๋าถือ กล่าวภายหลังรายงานยอดขายจากห้างสรรพสินค้าลดลงราว 15% ในไตรมาสที่ผ่าน ว่าจะปิดพื้นที่ขายภายในห้างสรรพสินค้าในอเมริกาเหลือ 25% หรือประมาณ 250 จาก 1,000 แห่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ด้านฟอสซิล เจ้าของแบรนด์นาฬิกาหรู ที่วางจำหน่ายสินค้าตนเองในห้างสรรพสินค้าเป็นจำนวนมาก กล่าวว่าการแข่งขันจากสมาร์ทโฟนและสมาร์ทวอตช์ เป็นปัจจัยที่ทำให้ยอดขายในไตรมาสก่อนลดลง 11%

โอลิเวอร์ เฉิน หัวหน้าฝ่ายค้าปลีกของบริษัทบริการด้านการเงิน โคเวนแอนด์โค กล่าวว่า แบรนด์สินค้าหรูพยายามที่จะรักษาระดับของแบรนด์ตนเองเอาไว้ ซึ่งหมายความว่าจะต้องทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนหายากขึ้น และต้องไม่ถูกนำไปจัดโปรโมชันลดราคาบ่อยครั้ง

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ในขณะที่การซื้อสินค้าส่วนใหญ่ยังคงเกิดขึ้นภายในร้านค้า แต่ผู้บริโภคเข้าร้านค้าเป็นจำนวนน้อยลง แสดงให้เห็นว่าความสะดวกในการเลือกสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีก "การมีอินเตอร์เน็ตหมายความว่าผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องไปศูนย์การค้ามากเท่าเดิม" ซีโมน ซีเกล นักวิเคราะห์จากโนมูระกล่าว

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยอีมาร์เก็ตเตอร์ระบุว่า ยอดขายสินค้าทางออนไลน์ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่านับตั้งแต่ปี 2552 จาก 1.458 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 3.43 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปีก่อน ขณะที่ร้านค้าปลีก อาทิ เมซีส์ เซียร์ส เคมาร์ท และราล์ฟลอเรน ต่างปิดร้านค้าส่วนหนึ่งลง ลดขนาดธุรกิจเพื่อเพิ่มกำไร ภายใต้สถานการณ์ที่แบรนด์ไม่ต้องมีร้านค้าเป็นจำนวนมากเพื่อเข้าถึงลูกค้าอีกต่อไป

เทอร์รี ลันด์เกรน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเมซีส์ ยอมรับว่า พื้นที่ค้าปลีกของสหรัฐฯ ซึ่งเท่ากับ 7.3 ตารางฟุตของพื้นที่ค้าปลีกต่อประชากรนั้นอยู่ในระดับที่สูงเกินไป เทียบกับพื้นที่เพียง 1.3 ตารางฟุตในอังกฤษ และ 1.7 ตารางฟุตในฝรั่งเศส โดยพื้นที่ค้าปลีกที่มากเกินไปส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนของเชนที่ไม่สามารถนำมาใช้กับด้านอื่นๆ ที่มีประโยชน์มากกว่า เช่น ด้านอี-คอมเมิร์ซ ในขณะเดียวกันก็กระทบกับผลกำไร

เมซีส์กล่าวว่า เงินที่ประหยัดได้จากการปิดร้านค้าจะนำมาใช้ลงทุนกับสิ่งที่คิดว่าจะช่วยให้ทางเชนมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง อาทิ พัฒนาประสบการณ์ซื้อสินค้าออนไลน์ จ้างผู้ช่วยส่วนตัวในการซื้อสินค้าเพื่อให้บริการแก่ลูกค้า จัดอีเวนต์ภายในร้าน และสต็อกสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟที่จะช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคอยากเข้าร้านมากขึ้น เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การปิดร้านค้าของเชนค้าปลีกหลายแห่งก็ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมากในอุตสาหกรรมค้าปลีก ข้อมูลจากบริษัทจัดหางาน ชาเลนเจอร์ เกรย์ แอนด์ คริสต์มาส ระบุว่า ธุรกิจค้าปลีกมีการปลดพนักงานไปแล้วกว่า 43,600 ตำแหน่งในปีนี้ อย่างไรก็ดี ข้อมูลของางการสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่า ภาคการค้าปลีกโดยรวมยังคงจ้างงานเพิ่มเกือบ 2 แสนตำแหน่ง หมายความว่ายังมีอีกหลายส่วน รวมถึงธุรกิจ "non-storre retailer" อาทิ อเมซอน และบริษัทอี-คอมเมิร์ซอื่นๆ ยังคงมีการจ้างงาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,184 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559