ฝ่าวิบากค่ายรถยนต์ไฟฟ้า ‘เทสลา’

18 ส.ค. 2559 | 00:00 น.
เทสล่า ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์แบตเตอรี่จากสหรัฐอเมริกา ประสบภาวะขาดทุนหนักยิ่งขึ้นในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ (2559) แต่ผู้บริหารของบริษัทแถลงข่าวเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 ส.ค.) ว่าถึงจะอยู่ในสถานะที่ยากลำบากแต่บริษัทก็จะเดินหน้าขยายการผลิตและพยายามทำกำไรให้ได้

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา เทสล่ามีรายได้ 1,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 44,450 ล้านบาท แต่ก็ขาดทุนอยู่ถึง 293.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 10,262 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ายอดขาดทุนในไตรมาสแรกของปีเพียงเล็กน้อย แต่มากเกินความคาดหมายของนักวิเคราะห์อย่างมโหฬาร ซึ่งก็สร้างแรงกดดันให้กับเทสล่าอย่างมาก นายอิลอน มัสค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทสล่า ออกมาแถลงว่า บริษัทยังคงสามารถเดินหน้าแผนการไปตามเป้าหมายที่วางไว้ นั่นคือจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 50,000 คันภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 นี้ แม้ว่าปริมาณที่ผลิตได้จริงจะพลาดเป้าที่วางไว้สำหรับช่วงครึ่งปีแรกไปแล้ว ซีอีโอของเทสล่าอธิบายว่า ยอดจองรถมีเข้ามามาก คือเฉลี่ย 2,000 คันต่อสัปดาห์ ซึ่งทางโรงงานก็สามารถเดินเครื่องการผลิตที่อัตราดังกล่าว

นักวิเคราะห์เชื่อว่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่สำรองไฟรายนี้ไม่น่าจะทำกำไรได้ในเร็ววัน เนื่องจากแผนขยายการผลิตของโรงงานทั้งในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่เป็นโครงการใหญ่ลงทุนสูง ทำให้นักลงทุนเริ่มหวาดหวั่นว่าบริษัทจะไม่สามารถดำเนินแผนธุรกิจ สร้างความเติบโตได้ตามที่วางแผนเอาไว้ ยิ่งประกอบกับข่าวที่ว่า เทสล่ากำลังมีแผนจะทาบซื้อกิจการบริษัท โซลาร์ซิตี้ฯ ที่ผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งอิลอน มัสค์ มีส่วนช่วยก่อตั้งและมีหุ้นอยู่ด้วย ก็ยิ่งเกิดข้อกังขาและทำให้เชื่อว่าแผนการนี้ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อสถานะการเงินของเทสล่า

รายงานระบุว่า ในช่วงไตรมาสที่สองที่ผ่านมา เทสล่าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ประมาณ 14,000 คัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 17,000 คัน ความกังวลเกี่ยวกับกำลังการผลิต(ที่ไม่เข้าเป้า)ของบริษัทมีเพิ่มขึ้นเมื่อคำนึงถึงเป้าหมายของบริษัทในปีหน้า (2560) ที่เทสล่าต้องเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นราคาประหยัด คือ รุ่น 3 (Model 3 sedan) ป้อนตามใบสั่งของลูกค้าแล้ว รถรุ่นนี้บริษัทตั้งราคาไว้ที่ 35,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.22 ล้านบาท ถูกกว่ารุ่นยอดนิยมสองรุ่นแรกของบริษัทคือ รุ่น S และ X ที่ตั้งราคาไว้คันละ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป

นอกจากแผนซื้อกิจการโซลาร์ซิตี้แล้ว เทสล่ายังขยายโรงงานที่เนวาดา (ซึ่งใกล้จะเสร็จในส่วนขยายแล้ว) เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท รวมทั้งแบตเตอรี่สำหรับสำรองไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย (กลุ่มหลังนี้เป็นแบตเตอรี่สำรองไฟสำหรับใช้ในครัวเรือน) เมื่อเร็วๆนี้ ผู้บริหารของเทสล่ายังเผยถึงแผนการในอนาคตที่จะผลิตรถบรรทุกและรถบัสที่ใช้พลังไฟฟ้าอีกด้วย

แม้ว่าแผนการจะดูดี แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนต้องการจะเห็นก็คือ การนำแผนเหล่านี้มาใช้ให้เกิดรูปธรรมในสายการผลิตและในรายงานผลประกอบการ ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังไปไม่ถึงจุดหมายนั้น เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เทสล่าสามารถระดมทุนจากการขายหุ้นต่อสาธารณชนถึง 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อมาใช้สนับสนุนแผนการธุรกิจ ซึ่งการนำทุนดังกล่าวมาใช้ในการปรับปรุงกำลังการผลิตเพื่อสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น 3 ป้อนยอดสั่งซื้อที่มีเข้ามาแล้วกว่า 300,000 คันนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด นั่นเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้บริหารของเทสล่าจะต้องทำให้สำเร็จ ไหนจะเผชิญแรงกดดันจากหน่วยงานตรวจสอบด้านความปลอดภัยของภาครัฐ หลังเกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น 3 ของเทสล่าที่ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติทำให้ผู้ขับขี่ถึงแก่ชีวิต

นอกจากนี้ บริษัทยังถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ในข้อร้องเรียนว่าบริษัทไม่ได้ให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมาเกี่ยวกับกรณีอุบัติเหตุที่เกิดจากรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทก่อนที่จะทำการขายหุ้นต่อสาธารณชน เรียกว่าเทสล่ากำลังถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัดรอบด้าน จนน่าจับตามองว่าจะมีกลยุทธ์พลิกฟื้นสถานการณ์อย่างไรถูกหยิบมาใช้โดยผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ระดับโลกค่ายนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559